"กรมสุขภาพจิต" แนะหากอยากเลิกบุหรี่ ดื่ม “ชาชงหญ้าหมอน้อย” พบผู้ป่วยจิตเวช ร้อยละ50 สูบหนัก ก้าวร้าว เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com เมด ฮับ นิวส์ดอทคอม

บทความ

"กรมสุขภาพจิต" แนะ ดื่ม “ชาชงหญ้าหมอน้อย” พบผู้ป่วยจิตเวช ร้อยละ 50 สูบหนัก ก้าวร้าว

เรื่องร้อนๆ ของแพทย์ และ นักวิจัยสองฝ่าย รวมทั้งภาคประชาชน กรณีบุหรี่ไฟฟ้า ล่าสุด ทีมข่าว เว็บไซต์  medhubnews.com  รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์

ถึงผู้ป่วยจิตเวชทุกโรค เข้าถึงบริการซึ่งได้ขยายเครือข่ายการรักษาไปถึงรพ.ชุมชนได้ตามเป้าหมายคือสูงกว่าร้อยละ 70 และมีแนวโน้มดีขึ้น 

แต่ในเชิงประสิทธิภาพยังมีปัญหาสำคัญต้องเร่งแก้ไข โดยพบว่าผู้ป่วยจิตเวชหันไปสูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 50 และมีอาการกำเริบ เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิด ต้องกลับเข้ามารักษาซ้ำอีก 

บางคนติดบุหรี่อย่างหนักโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภท ซึ่งเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางความคิดและพฤติกรรม ใช้มากที่สุด สูบเฉลี่ยคนละประมาณ 21-30 มวนต่อวัน ร้อยละ 98  เป็นผู้ชาย ซึ่งปัญหานี้พบเหมือนกันทั่วประเทศ

สาเหตุที่ผู้ป่วยจิตเวชสูบบุหรี่ เนื่องจากฤทธิ์นิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ ทำให้ผู้สูบรู้สึกว่ามีความสุข เพิ่มสมาธิ และอาจลดหูแว่ว  ขณะเดียวกันฤทธิ์ของนิโคติน สร้างปัญหา โดยจะไปลดฤทธิ์ยาที่ให้ผู้ป่วยกินรักษาอาการหูแว่ว  ประสาทหลอน  

ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดี และต้องปรับขนาดยาสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลเสียต่อการควบคุมอาการเป็นอันมาก       

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ได้ให้รพ.จิตเวชสระแก้วฯ ซึ่งเป็นรพ.แห่งเดียวในสังกัดที่เน้นให้บริการโดยใช้การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรมาใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช 

เพื่อสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ให้แก่รพ.ทั่วประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเรามีสมุนไพรคุณภาพดีจำนวนมาก

โดยได้ศึกษาวิจัย การใช้ชาชงจากหญ้าดอกขาวหรือที่เรียกว่าหญ้าหมอน้อยขนาด 1 ซองน้ำหนัก 2 กรัม  มาให้ผู้ป่วยจิตเวชที่สูบบุหรี่ที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล ดื่มเพื่อรักษาการติดนิโคติน

และลดการอยากบุหรี่ หรือที่เรียกว่าเสี้ยนบุหรี่ ศึกษาในปี 2560-2561 ในเบื้องต้นพบว่าลดการติดนิโคตินและลดการสูบบุหรี่อย่างได้ผล

ไม่พบอาการข้างเคียงแต่อย่างใด จะขยายผลศึกษาต่อในปี 2561 ใช้งบประมาณ 3 แสนบาท เพื่อพัฒนาขั้นตอนการรักษาให้เป็นมาตรฐานระดับประเทศ และขยายผลรักษากลุ่มประชาชนที่ติดบุหรี่และมีพฤติกรรมและอารมณ์ผิดปกติ

เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย ซึ่งผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2556 และปี 2559ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปพบผู้มีปัญหามากถึง 3 ล้านกว่าคน โดยเป็นเยาวชนอายุ 13-17 ปี เกือบ 1 แสนคน     

ทางด้าน แพทย์หญิงจุฬาพันธุ์  เหมกูล ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ กล่าวว่า  จากการวิเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยในของโรงพยาบาลฯที่มีเฉลี่ยปีละ 1,700 คน ร้อยละ 50 สูบบุหรี่ ปัญหาที่พบคือหงุดหงิด เสี้ยนยา กระวนกระวาย หรือก้าวร้าวเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยคนอื่นๆ ด้วย

ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ใช้ชาชงหญ้าดอกขาว 1 ซอง ต่อน้ำ 250 มิลลิลิตร แช่ไว้ 15 นาที ดื่มก่อนอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็นและก่อนนอน วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน เป็นเวลา  2 สัปดาห์ ร่วมกับการเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจผู้ป่วยในการเลิกสูบบุหรี่  ศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 37 คน ส่วนใหญ่สูบบุหรี่ นาน 6-10 ปีและเคยเลิกสูบมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ 

โดยติดตามผลทุกเดือน หากหยุดสูบได้จะติดตามทุก 3เดือน พบว่าชาชงหญ้าดอกหญ้าขาวลดระดับความรุนแรงการติดนิโคตินได้สูงถึงร้อยละ  96   ผู้ป่วยเลิกสูบได้ร้อยละ 30  ที่เหลือสูบลดลงจากวันละ 21 มวน เหลือเพียง 7 มวน  หากเปรียบเทียบแล้วมีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน ที่ให้ผลเลิกในคนทั่วไปร้อยละ30 แต่มีราคาแพงมาก 

ในปี 2561 นี้ จะศึกษาในระดับคลินิกในกลุ่มใหญ่ขึ้นตามหลักสากล เพื่อให้ได้มาตรฐานทั้งด้านประสิทธิภาพการรักษาและปริมาณการใช้   ทั้งนี้การเลิกบุหรี่สำเร็จจากหญ้าดอกขาว 1 คน ใช้งบเฉลี่ย 10,080  บาท  ถูกกว่ายาแผนปัจจุบัน 3-6 เท่าตัว 

ซึ่งจะช่วยให้ไทยมียารักษาผู้ติดบุหรี่ให้เลิกสูบได้สำเร็จ เพิ่มมูลค่าสมุนไพรดอกหญ้าขาวให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งขณะนี้มีคนไทยสูบบุหรี่ประมาณ 11 ล้านคนทั่วโลกมีประมาณ 1,000 ล้านคน  

แพทย์หญิงจุฬาพันธุ์ กล่าวต่อว่า ชาหญ้าดอกขาว มีรสขมฝาด มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ไม่เป็นสารก่อมะเร็ง ไม่ทำให้เซลล์กลายพันธุ์  จากงานวิจัยมีการค้นพบว่ามีสารสำคัญ 8 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งสารที่ลดการขับสารโคตินออกทางปัสสาวะ

เช่นสารซีวายพี 2 เอ6 (CYP2A6 ) สารเอ็มเอโอเอและบี (MAO-A,B) และยังพบว่าในหญ้าดอกขาวยังมีสารนิโคตินเล็กน้อยด้วย  ซึ่งจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สารสื่อประสาทคือโดปามีน ( Dopamine) ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยอยากยาน้อยลง โดยใช้ทั้ง 4 ส่วน คือดอก ใบ ลำต้น และราก ตากแห้งแล้วนำมาบดเป็นผง

สำหรับการแพทย์ทางเลือก เป็นการรักษาแบบเสริมควบคู่กับการรักษาแบบแผนปัจจุบัน เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านจิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News   

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

29 ธันวาคม 2561

ผู้ชม 2735 ครั้ง

Engine by shopup.com