เตือน "วัยทำงาน" หากไร้ความสุข เท่ากับครึ่งนึงของชีวิตหายไป แนะอย่าหลบอยู่ใน "ศาลาคนเศร้า"
เตือน "วัยทำงาน" หากไร้ความสุข เท่ากับครึ่งนึงของชีวิตหายไป แนะอย่าหลบอยู่ใน "ศาลาคนเศร้า"
News Update 26 เมษายน 2562 : กรมสุขภาพจิตห่วงวัยทำงานเครียด แนะใช้ 5 เทคนิคเสริมสร้างความสุขในการทำงาน ให้เริ่มต้นจากตัวเองก่อน
และให้สังเกต 4 สัญญาณพฤติกรรมที่บ่งบอกไม่มีความสุขในการทำงานที่ควรไปใช้บริการปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขหรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323
ผู้สื่อข่าว medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ และ เพจ sasook รายงานว่า กรมสุขภาพจิตได้ให้ความสำคัญกับประชาชนวัยทำงานอายุ 15-59 ปี ซึ่งมีประมาณ 37 ล้านคน เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญและเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ เป็นผู้ที่รับภาระรับผิดชอบดูแลทั้งตนเองและครอบครัว
เมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม จะทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย ซึ่งส่งผลต่อปัญหาสุขภาพตามมา รวมทั้งทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และความสุขในการดำเนินชีวิตประจำวันลดลงไปด้วย
“คนเราใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานวันละ 7-8 ชั่วโมงหรือใช้เวลาประมาณครี่งหนึ่งที่เราตื่น หากเราไม่มีความสุขในการทำงาน ก็เท่ากับชีวิตครึ่งหนึ่งของเราไม่มีความสุข และอาจจะส่งผลทำให้ชีวิตด้านอื่นๆไม่มีความสุขตามไปด้วย
ในทางตรงกันข้าม หากชีวิตการทำงานมีความสุข จะยิ่งเกิดกำลังใจ มีแรงจูงใจในการทำงาน จึงขอเชิญชวนให้ทุกหน่วยงาน
โดยเฉพาะงานบริหารทรัพยากรบุคคลทั้งภาครัฐละเอกชน ให้ความใส่ใจในการดูแลสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ทำงานอย่างมีความสุข”
สำหรับ วิธีการเสริมสร้างความสุขในการทำงานนั้น ประการสำคัญให้เริ่มต้นจากตนเอง โดยมีข้อแนะนำให้ปฏิบัติ 5 ประการดังนี้ 1. เตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปทำงานแต่ละวัน
เช่น นอนให้พอ ทานมื้อเช้าให้อิ่ม และบอกตัวเองทุกครั้งว่า “ฉันพร้อมแล้วที่จะทำงาน” 2. ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงานด้วยการใจกว้าง รับฟัง รู้จักพูดให้เป็น
เช่น พูดชื่นชมเมื่อเพื่อนทำดี ขอโทษเมื่อทำผิด รับฟังและให้กำลังใจเมื่อเพื่อนร่วมงานเกิดความท้อแท้ และยอมรับความคิดต่าง
3. เปิดใจรับฟังเมื่อหัวหน้าให้คำแนะนำหรือตักเตือน และชี้แจงด้วยเหตุผลมากกว่าการใช้อารมณ์ 4. พัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน โดยหมั่นฝึกฝนหาความรู้เพิ่มเติมในงานที่ทำ
รวมทั้งถ้าได้รับมอบหมายงานใหม่ๆให้คิดว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง ซึ่งจะทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจและมีความสุขกับการทำงาน
และ 5. หาที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้เมื่อมีปัญหา เช่นเพื่อนสนิท หัวหน้างาน เพื่อช่วยกันคิดแก้ปัญหา
สำหรับผู้ที่ไม่มีความสุขในการทำงาน มีข้อสังเกตได้จากการมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม ดังนี้ 1.เบื่อ ไม่อยากทำงาน ขาดความกระตือรือร้น ทำงานผิดพลาดบ่อย หรือขาดงานเป็นประจำ
2. ไม่อยากพูดกับใคร โกรธง่าย น้อยใจง่าย ไม่รู้สึกสนุกสนานเหมือนเดิม 3. สูบบุหรี่จัดขึ้น หรือดื่มเหล้าจัดขึ้น จนบางครั้งขาดงาน หรือหาทางออกด้วยการเล่นการพนัน
4. เจ็บป่วยบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุ เช่นปวดหัวเป็นประจำ ปวดหลัง ปวดไหล่ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ อยากนอนตลอดเวลา
หากพบว่าตัวเองหรือเพื่อนร่วมงานมีอาการที่กล่าวมา สามารถขอรับบริการปรึกษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน
หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสม
26 เมษายน 2562
ผู้ชม 4356 ครั้ง