"ผู้ป่วยจิตเวช" พุ่ง ! เปิด "ซุปเปอร์คลินิก" เฉพาะทาง แยกออกจาก จิตเวชทั่วไป
"ผู้ป่วยจิตเวช" พุ่ง ! เปิด "ซุปเปอร์คลินิก" เฉพาะทาง แยกออกจาก จิตเวชทั่วไป
MED HUB NEWS - ผู้สื่อข่าว Medical Hub News รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตและคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น
เพื่อติดตามความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการดูแลประชาชนที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 7 ที่มีปัญหาเจ็บป่วยทางจิตเวช ซึ่งมี 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ประจำปีงบประมาณ 2560 และให้สัมภาษณ์ว่า
ภาพรวมของการจัดบริการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวชในเขตสุขภาพที่ 7 พบว่าการเข้าถึงบริการมีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 400 คน
ผู้ป่วยในเฉลี่ยวันละ 171 คน นอนเฉลี่ยคนละ 21 วัน โรงพยาบาลทุกระดับในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 มีระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและจิตเวชฉุกเฉินครอบคลุมร้อยละ 83 ทำให้ผู้ป่วยโรคจิตเภทเข้าถึงบริการมากขึ้น
เช่น โรคจิตเภทเข้าถึงการรักษาร้อยละ 79 สูงเกินเป้าที่ตั้งไว้ร้อยละ 68 โรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการร้อยละ 52 เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าได้รับการกระตุ้นแก้ไขร้อยละ 95 ผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดไม่กลับไปเสพซ้ำใน 3 เดือนหลังบำบัด ร้อยละ 96
ในการพัฒนางานบริการของรพ.จิตเวชในฐานะที่เป็นศูนย์เชี่ยวชาญการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวช ได้มอบนโยบายให้รพ.จิตเวชขอนแก่นฯปรับโฉมดำเนินการ 3 เรื่อง
ประการแรกคือ การเปิดคลินิกรักษาโรคจิตเวชเฉพาะโรค หรือเรียกว่า ซุปเปอร์คลินิกเพิ่มขึ้นจากคลินิกรักษาโรคทางจิตเวชทั่วไป เป็นแห่งแรกในประเทศ
โดยใช้คลินิกรักษาทั่วไปเป็นจุดคัดกรองผู้ป่วย และส่งพบผู้เชี่ยวชาญรักษาต่อทันที เพื่อสร้างความพร้อมเป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วยโรคจิตเวชเฉพาะโรคซึ่งมีอาการและใช้การรักษาแตกต่างกัน
เนื่องจากรพ.แห่งนี้มีศักยภาพสูงมากมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมากกว่า 40 ปี โดยจะเริ่ม 2 โรคก่อนคือโรคจิตเภท และโรคจิตเวชในผู้สูงอายุ
มีการดูแลผู้ป่วยเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงไปถึงหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าในแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้ป่วยจิตเวชไม่เกิน 1-2 คน สามารถติดตามผู้ป่วยได้ทุกคน เนื่องจากขณะนี้ทุกบ้านมีโทรศัพท์มือถือ การติดตามผู้ป่วยจะดีขึ้นกว่าในอดีต โดยจะเริ่มเปิดในช่วงปลายปีนี้
ประการที่ 2 คือการดำเนินการเชิงรุก เพื่อการส่งเสริมป้องกัน ลดอัตราการเจ็บป่วยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อให้ประชาชนในเขตสุขภาพมีสุขภาพจิตดี หากเจ็บป่วยก็สามารถเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพ โดยให้รพ.จิตเวชขอนแก่นฯเป็นศูนย์ข้อมูลด้านสุขภาพจิตของเขตสุขภาพที่ 7 สามารถคาดประมาณอัตราการเจ็บป่วยด้านจิตเวชของประชาชนในแต่ละโรคได้
โดยใช้ฐานข้อมูลจากผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาล เป็นตัวพยากรณ์การเกิดโรคในชุมชน ขณะเดียวกันจะมีการวัดระดับความสุขของคนในชุมชน ซึ่งเป็นตัวสะท้อนคุณภาพชีวิตประชาชน จะทำให้งานบริการครบวงจรยิ่งขึ้น
และประการที่ 3 คือการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งกรมสุขภาพจิตมีนโยบายให้รพ.จิตเวชขอนแก่นฯมีความเชี่ยวชาญการป้องกันการฆ่าตัวตายของประเทศและในระดับอาเซียน สร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีด้านนี้ขยายผลใช้ทั่วประเทศ
ซึ่งเป้าหมายในปี 2560 นี้ จะลดอัตราการฆ่าตัวตายไม่เกินอัตรา 6.3 ต่อแสนประชากร ซึ่งอัตรานี้ยังสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน โดยได้ให้ศึกษาสาเหตุการฆ่าตัวตายและปัญหาจิตเวชว่ามีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆอย่างไร
โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองการศึกษา มีผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาจำนวนมาก ซึ่งอาจมีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาการฆ่าตัวตาย
นายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชขอนแก่นฯ กล่าวว่า ในการพัฒนาด้านองค์ความรู้การป้องกันการฆ่าตัวตาย ในปีงบประมาณ2561 นี้ ได้จัดงบประมาณจำนวน 1.5 ล้านบาท
ทำวิจัยเรื่อง การพยายามทำร้ายตัวเองของประชาชนไทยทั่วประเทศ เพื่อลดและป้องกันการฆ่าตัวตายสำเร็จ ซึ่งจากข้อมูลวิชาการที่ศึกษาจากกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการทั่วประเทศ พบว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตายครั้งแรกจะมีความพยายามซ้ำใน 1 ปีประมาณร้อยละ 40 โดยใช้เวลาศึกษา 1 ปี
นอกจากนี้ในปีนี้ รพ.ได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ บำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิตให้แก่คนไร้ที่พึ่ง ดำเนินการที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพดอนดู่ อ.เมือง มีพื้นที่ 100 กว่าไร่ เน้นทำการเกษตรสอดคล้องกับพื้นเพของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยร่วมมือกับบ้านเมตตา จ.นครราชสีมา ซึ่งมีคนไร้ที่พึ่งอยู่ในความดูแล 760 คน รุ่นแรกนี้ดำเนินการ 30 คน ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 จะป่วยเป็นโรคจิตเภท
โดยให้บริการรักษาจนอาการดีขึ้นและจัดโปรแกรมการฟื้นฟูให้ผู้ป่วยมีทักษะ 6 ด้าน ในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย ทักษะด้านการดูแลตนเอง การพักผ่อน การใช้ชีวิตในสังคม การอยู่ร่วมกันภายในบ้าน
ด้านการงานและอาชีพ การใช้ชีวิตในชุมชน เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2560 โดยฝึกอาชีพทำการเกษตรหลายรูปแบบ
เช่นปลูกผักปลอดสารพิษ เพาะเห็ดนางฟ้า ปลูกกล้วย แปรรูปกล้วยเช่นทำกล้วยฉาบ ส่งจำหน่ายตลาดชุมชนและในรพ.จิตเวชขอนแก่นฯทุกวัน รายได้เฉลี่ย 2,000 บาทต่อเดือน แนวโน้มการตอบรับผลผลิตดีขึ้น
ส่วนในด้านตัวผู้ป่วย พบว่าอาการดีขึ้น มีทักษะการใช้ชีวิตดีขึ้น มีจุดมุ่งหมายในชีวิตชัดเจนขึ้น ในจำนวนนี้มี 2 คน ที่อาการดีขึ้นเป็นปกติ ญาติรับกลับไปอยู่บ้านแล้ว
09 สิงหาคม 2563
ผู้ชม 4858 ครั้ง