"สำนักควบคุมยาสูบ กรมควบคุมโรค" ยันไร้หลักฐาน "บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยเลิกสูบบุหรี่ได้ แม้มี ผลวิจัย บุหรี่ไฟฟ้าอังกฤษ
"สำนักควบคุมยาสูบ กรมควบคุมโรค" ยันไร้หลักฐาน "บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยเลิกสูบบุหรี่ได้ แม้มี ผลวิจัย บุหรี่ไฟฟ้าอังกฤษ
ช่วงเดือนกรกฏาคม 2560 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมาระบุผ่านเอกสารเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนว่า ปัจจุบันมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่นไทย
เหตุเพราะรูปลักษณ์และองค์ประกอบที่ดึงดูดใจให้วัยรุ่นหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกิดกระแสการเลียนแบบในกลุ่มเพื่อนอย่างรวดเร็ว
ทางกรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยคนเลิกสูบบุหรี่ได้ ที่สำคัญในบุหรี่ไฟฟ้าก็มีสารพิษต่างๆ โดยเฉพาะสารนิโคตินเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปกติทั่วไป ซึ่งมีอันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพเหมือนกัน
ทั้งนี้ ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อสูดเข้าสู่ปอดแล้ว ไม่ใช่มีเพียงไอน้ำกับสารนิโคตินเท่านั้น แต่ยังมีสารเคมีอีกมากมายที่ใช้ในขบวนการผลิตและปรุงแต่งกลิ่นรส และสารเคมีหลายชนิดเป็นอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย รวมทั้งมีสารก่อมะเร็งด้วย นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นจุดเริ่มต้นในการเสพติดบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่นๆ ในเด็กและเยาวชนด้วย
จากผลสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี ครั้งล่าสุดในปี 2558 สำรวจพบว่าเยาวชนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 1.9 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลปัจจุบัน จึงออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2557 เรื่อง กำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557
ซึ่งหากมีผู้ฝ่าฝืนนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้น รวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย
และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ห้ามขาย หรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า
ซึ่งมีโทษสำหรับผู้ขาย ผู้ให้บริการ โดยจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ผลิต ผู้สั่ง ผู้นำเข้าเพื่อขาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10ปี ปรับไม่เกิน 1ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประเทศไทย ได้ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกในการควบคุมยาสูบของประเทศ และเสริมพลังความเข้มแข็งให้กับมาตรการต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันใช้แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่สอง พ.ศ.2559–2562โดยสถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยล่าสุด ปี 2559 พบว่าประชากรตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 54.8 ล้านคน สูบบุหรี่ร้อยละ 19.9
ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินงานปี 2560-2564 นี้ ความชุกของการสูบบุหรี่ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปต้องไม่เกินร้อยละ 16 หรือไม่เกิน 8.8 ล้านคน เพื่อให้อัตราการบริโภคยาสูบภาพรวมของประเทศไทยมีสถิติลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสนี้ ขอให้เด็กและเยาวชน ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพเมื่อสูบบุหรี่และผลกระทบต่อสุขภาพของคนรอบข้าง ที่สำคัญต้องรู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทผู้ผลิต ที่พุ่งเป้าการตลาดไปที่เด็กและเยาวชน ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ และรูปแบบช่องทางส่งเสริมการขาย
รวมทั้งการให้ข้อมูลที่บิดเบือนถึงผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนอยากเลิกบุหรี่ ให้โทรปรึกษาศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หมายเลข 1600 และมีคลินิกที่ให้บริการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ 02-580 9237 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
"การไม่สูบบุหรี่ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว....แต่ที่เป็นประเด็นคือโทษของบุหรี่ไฟฟ้าทำลายสุขภาพหรือไม่ หากจริงตามงานวิจัยต่างประเทศ ถือว่าจะทำให้ลดอัตราการเจ็บป่วยของคนไทยได้มากมายเลยค่ะ"
ข้อมูลจาก : สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
27 พฤศจิกายน 2565
ผู้ชม 3826 ครั้ง