โปรเจ็กต์ปลุกกระแส ช่วยเด็กป่วยเป็น โรคธาลัสซีเมีย เผยไทยมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็น ธาลัสซีเมียกว่า 12,000 ราย

บทความ

โปรเจ็กต์ปลุกกระแส ช่วยเด็กป่วยเป็น โรคธาลัสซีเมีย เผยไทยมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็น ธาลัสซีเมียกว่า 12,000 ราย

News Update วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2562 : เรียกได้ว่าเป็น โปรเจ็กต์การกุศล ปลุกกระแสสังคมให้หันมาช่วยเด็กป่วยเป็น โรคธาลัสซีเมีย ได้ผลจริงๆ

สำหรับ โปรเจ็กต์ PICTURE PERFECT photography exhibition ของคนหล่อใจบุญขั้นเทพ โดม ปกรณ์ ลัม ที่เหล่าแฟนคลับนักร้องดัง "เป๊ก ผลิตโชค" หรือที่เรียกกันว่า "นุช"

มีจิตอาสา ช่วยเหลือสังคม บริจาคเงินประมูลภาพ "เป๊ก ผลิตโชค" และ ที่สำคัญคือเงินบริจาคนำไปช่วย ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย Thalassemia ที่เป็นโรคแสนทรมาน
รวมทั้ง นโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ด้านงานแม่และเด็ก เพื่อให้เด็กไทยมีคุณภาพ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์อย่างต่อเนื่อง

จนถึงเด็กวัยเรียนให้มีพัฒนาการสมวัย กระทรวงสาธารณสุขเผย ประเทศไทยมีมารดาที่เสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 5 หมื่นคน และมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียกว่า 12,000 ราย

จึงได้ร่วมมือกับมูลนิโรคโลหิตจางแห่งประเทศไทย และทบวงมหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ 

เพื่อหาแนวทางการตรวจวินิจฉัยและการควบคุมคุณภาพ ผลการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพ

ที่ทีค การ์เด้น สปา รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานประชุมวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ 24 ประจำปี 2562 ขึ้น

โดย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบให้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ

และกล่าวว่า ธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางเรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคจะมีอาการแตกต่างกันตั้งแต่มีโลหิตจางเล็กน้อย โลหิตจางมาก ไปจนถึงอาการรุนแรงมากจนถึงเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาหรือหลังคลอดไม่นาน

ส่วนผู้ที่เป็นพาหะจะมีสุขภาพแข็งแรงเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป แต่สามารถถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติไปสู่ลูกหลานได้

ซึ่งในประเทศไทยพบผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียประมาณร้อยละ 30-40   ของประชากรหรือประมาณ 18-24 ล้านคน และมีผู้ป่วยโดยรวมประมาณ 6 แสนคน

ในแต่ละปีประเทศไทยมีมารดาที่เสี่ยงต่อการ มีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 5 หมื่นคน และมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย 12,125 ราย 

การรักษาสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไม่สามารถทำได้ทุกคนเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

และต้องมีผู้บริจาคไขกระดูก ที่เข้ากันได้กับผู้ป่วย การรักษาโดยทั่วไปจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยปีละไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท

ซึ่งจากการศึกษาโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่าการป้องกันโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงในหญิงตั้งครรภ์สามารถป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นได้และลดรายจ่ายของภาครัฐได้มากถึง  72 เท่า 

ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมกับมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย และทบวงมหาวิทยาลัยจัดประชุมสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติเป็นประจำทุกปี

เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การประสานการทำงานให้เกิดเครือข่ายการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียให้มีประสิทธิภาพและครบวงจรอันจะนำไปสู่การดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่เป็นโรคได้ในที่สุด

และในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งนี้ ซึ่งเน้นหาแนวทางการตรวจวินิจฉัยและการควบคุมคุณภาพผลการวิเคราะห์  อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพ

โดยทั่วไปการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียมี 2 แนวทางหลัก ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป คือ การรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และการป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนและบุคลากรทางสาธารณสุข 

การตรวจหาผู้ป่วยและผู้ที่เป็นพาหะ การให้คำปรึกษาแนะนำทางพันธุกรรมและการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์มารดา ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่ปี พ.ศ.2535

การดำเนินงานครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนาเครือข่ายการตรวจวินิจฉัยธาลัสซีเมียที่มีความน่าเชื่อถือรวดเร็วและครบวงจร

โดยมีระบบส่งต่อตัวอย่างที่ครบวงจรไร้รอยต่อส่งผลให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องและให้การรักษา ที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังได้พัฒนานวัตกรรมทางห้องปฏิบัติการ

ได้มีการคิดค้นและพัฒนาเป็นชุดทดสอบตรวจความผิดปกติ ของยีนอัลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 (Alpha-thalassemia 1)

ซึ่งสามารถตรวจหาความผิดปกติของยีนธาลัสซีเมียที่พบในประเทศไทย  ได้ครบทั้ง 2 ชนิด คือชนิด SEA (Southeast Asia) และชนิด Thai (ไทย)

นับเป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งแรก ของโลกที่สามารถตรวจหาความผิดปกติของยีนอัลฟ่าธาลัสซีเมีย 1 ทั้ง 2 ชนิดได้ในคราวเดียวกัน

ช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลา การตรวจจาก 6 ชั่วโมง เหลือเพียง 3 ชั่วโมง และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนผลิตเชิงพาณิชย์และสามารถขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว

ซึ่งในปีนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้พัฒนาต่อยอดระบบ AI ในการแปลผล เพื่อความรวดเร็วและแม่นยำ นำสู่ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ

“นอกจากนี้ในการรักษาได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด โดยสามารถปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด จากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ของพี่น้องพ่อแม่เดียวกันได้แล้ว ในกรณีที่ผู้บริจาคเป็นญาติพี่น้อง โอกาสที่เนื้อเยื่อเอชแอลเอ ตรงกัน มีเพียง 25% เท่านั้น

แต่หากขยายครอบคลุมถึงผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติพี่น้อง โอกาสที่มีเนื้อเยื่อเอชแอลเอตรงกับผู้ป่วยจะมีถึง 40-50% สามารถทำเพียงครั้งเดียวและมีโอกาสหายขาดได้ถึง 90%

ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ได้บรรจุไว้ในชุดสิทธิประโยชน์แล้ว ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาที่หายขาดได้มากขึ้น” นายแพทย์โอภาส กล่าว

ท่านสามารถดาวน์โหลดอีบุ๊ค medhubnews.com ได้ด้วยการกดปุ่มจากลิ้งค์ด้านล่างนี้ 

04 พฤศจิกายน 2562

ผู้ชม 3692 ครั้ง

Engine by shopup.com