"สายด่วนสุขภาพจิต" เฝ้าระวังผู้ป่วยขาดนัด ขาดยา เน้น 3 อาการ "เครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย"
"สายด่วนสุขภาพจิต" เฝ้าระวังผู้ป่วยขาดนัด ขาดยา เน้น 3 อาการ "เครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย"
กองบรรณาธิการข่าว เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้จากพายุดีเปรสชั่นในช่วงวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2560 ว่า
ขณะนี้ได้ให้หน่วยงานคือโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จ.สงขลา โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี และศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 และ 12
ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมทีมเยียวยาจิตใจ เอ็มแคท ( Mental Crisis Assessment and Treatment Team :MCATT) เพื่อดูแลจิตใจประชาชนตลอด
ทั้งนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดเน้นหนักให้ดำเนินการ 2 มาตรการอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง มาตรการแรกได้แก่การเฝ้าระวังปัญหาผู้ป่วยจิตเวชขาดยา
จากการที่ไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์ตามนัดได้เนื่องจากฝนตกหนักหรือมีน้ำท่วมหมู่บ้าน ซึ่งโดยทั่วไปโรงพยาบาลจิตเวชจะมีผู้ป่วยนัดติดตามประเมินผลการรักษาแห่งละประมาณ 200 -300 คนต่อวัน
กรณีที่พบขาดนัดจะติดตามให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตกำเริบ ขณะเดียวกันขอให้ผู้ป่วยหรือญาติแจ้งขอรับการช่วยเหลือที่อสม.หรือสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
มาตรการที่ 2 คือการติดตามเยี่ยมบ้านเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงระยะ 2 สัปดาห์-3 เดือน ซึ่งข้อมูลล่าสุดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2560- 7 พฤศจิกายน 2560 จำนวนทั้งสิ้น 23 จังหวัด ใน 79 อำเภอ 2,825 หมู่บ้าน และ42 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 327,420 คน มีผู้เสียชีวิต 18 ราย
โดยปัญหาสุขภาพจิตสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในระยะนี้ มี 3 เรื่องได้แก่ อาการเครียด ซึมเศร้า ความเสี่ยงฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดอาการดังกล่าวได้สูงกว่าคนทั่วไป
ได้แก่ ผู้ที่มีความสูญเสียจากเหตุการณ์ ทั้งบุคคลในครอบครัวหรือทรัพย์สิน ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้พิการ และผู้ป่วยจากโรคจิตเวชอยู่แล้ว เพื่อให้การดูแลต่อเนื่องจนกว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติ
“ผลการประเมินสุขภาพจิตในพื้นที่น้ำท่วมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่พบผู้ประสบภัยเกิดความเครียดฉับพลัน ประมาณร้อยละ 10 มักเป็นผู้ที่ไม่เคยประสบการณ์น้ำท่วมมาก่อน
ซึ่งจัดว่าเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามปกติ ซึ่งอาการจะค่อยๆดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ โดยพบผู้มีปัญหาซึมเศร้ารุนแรงมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 2 ราย ที่อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และจะมีการติดตามประเมินอาการอย่างต่อเนื่อง ยังไม่พบปัญหาการฆ่าตัวตายจากน้ำท่วม ” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
อย่างไรก็ดีขอให้ประชาชน มีสติ ปรับความคิดตนเอง เนื่องจากน้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ แต่เราสามารถอยู่ร่วมกับภัยนี้ได้ เนื่องจากเหตุการณ์จะเกิดขึ้นช่วงหนึ่งเท่านั้น และเรามีหน่วยงานที่ให้การดูแลช่วยเหลือ ไม่ถูกทอดทิ้งให้เผชิญปัญหาโดยลำพัง
โดยหากมีอาการนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท รู้สึกท้อแท้ สามารถขอรับคำปรึกษาจากอสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านหรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
แนะ สายด่วนสุขภาพจิต
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
03 มกราคม 2562
ผู้ชม 1976 ครั้ง