"ไขปริศนา" ? ยาเสียสาว ยาติดสัตว์ ที่สาวดริ๊งโดนมอม ที่แท้เป็นยานอนหลับชนิดใหม่ เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การค้าการลงทุนด้านสุขภาพ

บทความ

"ไขปริศนา" ? ยาเสียสาว ยาติดสัตว์ ที่สาวดริ๊งโดนมอม ที่แท้เป็นยานอนหลับชนิดใหม่

 

MED HUB NEWS - หลังจากได้นำเสนอข่าวข่าวฮือฮา ผู้ใช้เฟสบุ๊ค Bo Zii ได้โพสต์ภาพหญิงสาวที่อยู่ในอาการไม่ได้สติ พร้อมระบุว่า เป็นเพื่อนของตนเอง ที่ถูกผู้ชายหยอดยาเสียสาว 

จากอาการโดยสรุปทั้งหมดคือ คล้ายๆ เป็นโรคติดสัตว์ อยากมีเซ็กซ์ เหมือนโดนยาเสียสาว แต่อาการสาวคนนี้ มากกว่าที่เคยเป็นข่าว และ ที่แพทย์เคยเจอมา คือ เรียกร้อง จะแก้ผ้า อ้วก กอดขาไม่ได้สติ อยากมีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ 

ก่อนที่ผู้ใช้เฟสบุ๊คโพสต์ว่าเพื่อนของตน เป็นเอนเตอร์เทน หรือ  งาน En , เด็กเอนเตอร์เทนในร้านและโดนลูกค้าหยอดยาเสียสาว

สำหรับสิ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นไปได้ที่สุด คือ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข แถลง “ตรวจพบยานอนหลับชนิดใหม่ระบาดในประเทศไทย”

โดยระบุว่ามีการนำเข้ายานอนหลับชนิดรุนแรงมาใช้ผิดวัตถุประสงค์กันเกลื่อนเน็ต โดยเป็นที่นิยมในหมู่นักปาร์ตี้

และ ผู้ไม่หวังดีนำมาหลอกล่อเหยื่อเพื่อข่มขืน ทั้งเด็กหนุ่ม และ เด็กสาว ซึ่งเคยเกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว โดยมีกล้องวงจรปิดได้พบว่า "เหยื่อ" จะไม่รู้สึกตัวในระหว่างที่โดนข่มขืนเลย 

กองบรรณาธิการข่าว เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com รายงานว่า  นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ช่วงดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า 

ทาง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักยาและวัตถุเสพติด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ได้ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ของกลางที่ส่งตรวจจากสถานีตำรวจภูธร 7 แห่งในเขตจังหวัดนราธิวาสและยะลารวม 10 ตัวอย่าง

มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม ด้านหนึ่งมีตัวพิมพ์ “5” ส่วนอีกด้านเป็นสัญลักษณ์ “” บรรจุในแผงอลูมิเนียมสีเงินพลาสติกใสสีแดงแผงละ 10 เม็ด บนแผงพิมพ์ภาษาอังกฤษระบุผลิตในประเทศญี่ปุ่น ( MADE IN JAPAN ) และชื่อยา “Erimin5”

 

โดยพบว่า เป็นยาปลอมเนื่องจากตรวจไม่พบส่วนประกอบที่เป็นยาไนเมตาซีแพม ( Nimetazepam ) ที่ปกติจะพบอยู่ในยา Erimin 5 และจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 มักนำไปใช้ทดแทนยาเสพติด

ซึ่งมีการแพร่ระบาดมากในสถานบันเทิงเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันชนิดของยา โดยใช้เทคนิคต่างๆในห้องปฏิบัติการประกอบกัน

ได้แก่ เทคนิคโครมาโทกราฟีแผ่นบาง ( TLC ) การวัดการดูดกลืนแสงด้วยเครื่องยูวี วิส สเปคโทรโฟโตมิเตอร์ การตรวจด้วยเครื่อง Gas chromatograph-Mass spectrometer และเทคนิค Infrared spectroscopy

ทำให้สามารถยืนยันการตรวจของกลางทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าเป็นยาอีทิโซแลม ( Etizolam ) ซึ่งเป็นยานอนหลับชนิดใหม่ที่เพิ่งตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย

ยาอีทิโซแลม มีสูตรโครงสร้างทางเคมีและการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีนส์ ซึ่งดูดซึมได้ดีผ่านระบบทางเดินอาหารให้ระดับยาในเลือดสูงสุดภายในเวลา 0.5-2 ชั่วโมง  เป็นยากลุ่มกดประสาทที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางมีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม ในบางประเทศ

เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี และ อินเดีย อนุญาตให้ใช้เป็นยาในรูปแบบยาเม็ดขนาดความแรงต่างๆกันสำหรับรักษาโรควิตกกังวลที่มีภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับ แต่มีอาการไม่พึงประสงค์และอาการข้างเคียง

เช่น ทำให้ง่วงซึมระหว่างวัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดจาเลอะเลือน เดินเซ ง่วงนอน อาจมีอาการกล้ามเนื้อรอบดวงตาหดเกร็งตัวในผู้ป่วยที่ใช้ยามากกว่า 1 เดือนจะกดระบบหายใจทำให้เสียชีวิตได้

นอกจากนี้ยังทำให้เสพติดและมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดใช้ทดแทนยาอี ( Ecstasy ) รวมทั้งมีการโฆษณาเป็นสารเคมีสำหรับในใช้ในการศึกษาวิจัย ในบางประเทศสามารถหาซื้อได้ง่ายทางอินเตอร์เน็ตหรือร้านค้าท้องถิ่นในรูปแบบ ยาเม็ด ผง หรือเคลือบซับอยู่บนกระดาษ

แต่ในหลายๆประเทศได้ตระหนักถึงอันตรายและแนวโน้มการนำไปใช้ในทางที่ผิดของยาชนิดนี้ จึงกำหนดให้เป็นสารที่ต้องควบคุมตามกฎหมาย เช่น ประเทศ เดนมาร์ก เยอรมนี สหรัฐอเมริกาในบางรัฐ เช่นฟลอริด้า อลาบามา เวอร์จิเนีย เท็กซัส เป็นต้น

และ มีรายงานข่าวกรณีมีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 รายในสกอตแลนด์เมื่อปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากใช้ยาไดอาซีแพมปลอมที่บางตัวอย่างมีส่วนผสมของยาอีทิโซแลมประเทศสหราชอาณาจักร

โดย The Misuse of Drug Act 1971 ได้ประกาศให้เป็นยาควบคุมกลุ่ม C ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ชนิดอัลปราโซแลม (Alprazolam)และไดอาซีแพม (Diazepam)

นอกจากนี้ยาดังกล่าวเป็น 1 ใน 16 ชนิด ที่องค์การสหประชาชาติจะมีการทบทวนและพิจารณาการควบคุมทางกฎหมายระดับสากลในการประชุม ECDD ( Expert Committee on Drug Dependence ) ครั้งที่ 39

สำหรับในประเทศไทย ยาดังกล่าวไม่มีจำหน่ายหรือไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในประเทศจึงยังไม่ถูกควบคุมหรือประกาศให้เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

"ยาอีทิโซแลม ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดและมีแนวโน้มนำไปใช้ในทางที่ผิดในประเทศไทย เป็นการตรวจพบครั้งแรก

โดยห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความมุ่งมั่นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่จะพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ยาเสพติดชนิดใหม่เพื่อให้ทันการณ์ในยุคโลกไร้พรมแดน

สามารถทำให้ได้ข้อมูลที่พร้อมสำหรับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปใช้ได้ทันท่วงทีเช่นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำไปใช้ป้องกัน เฝ้าระวัง ปราบปราม และพิจารณาทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือใช้แจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงอันตรายต่อไป" นายแพทย์สุขุม กล่าว

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News   

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

 

27 พฤศจิกายน 2561

ผู้ชม 6926 ครั้ง

Engine by shopup.com