ผู้ป่วยจิตเวช ไม่ต้องกินยาผิดซอง ผิดเวลา ! กรมสุขภาพจิต ติด “คิวอาร์โค๊ด” ฉลากยา ให้ข้อมูลการใช้ ทั้งอ่าน ฟัง ส่งผลดีต่อผู้ป่วย ให้กินยาถูกต้องเป้ะ เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com

บทความ

ผู้ป่วยจิตเวช ไม่ต้องกินยาผิดซอง ผิดเวลา ! กรมสุขภาพจิต ติด “คิวอาร์โค๊ด” ฉลากยา ให้ข้อมูลการใช้ ทั้งอ่าน ฟัง ส่งผลดีต่อผู้ป่วย ให้กินยาถูกต้องเป๊ะ

กองบรรณาธิการข่าว เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com รายงานว่า ทางกรมสุขภาพจิต โดย นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2561 นี้ กรมสุขภาพจิต เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนและผู้ป่วยจิตเวช   เพื่อก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0  

ซึ่งโรคทางจิตเวชสามารถใช้ยารักษาหายหรืออาการทุเลาได้  แต่ที่ผ่านมาผู้ป่วยจิตเวชหลังกลับไปอยู่บ้านแล้ว มีอาการกำเริบและต้องกลับมารักษาซ้ำอีก เพราะกินยาไม่ถูกต้อง  ซึ่งมาจากหลายสาเหตุประกอบกัน ประการแรกคือ ผู้ป่วยมักคิดว่าตัวเองไม่ได้ป่วยและไม่ยอมกินยา หรือกินแต่ไม่ถูกต้อง 

ประการต่อมาเกิดมาจากการอ่านข้อมูลยาที่หน้าซองยาไม่ออกหรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ  การได้ข้อมูลคำอธิบายจากเภสัชกรเพียงครั้งเดียว  จึงกินยาไม่ถูกต้อง  อีกทั้งยังอาจเกิดมาจากตัวโรคที่เป็นความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง  มีผลต่อความคิด ความจำ การรับรู้ของผู้ป่วย 

นอกจากนี้ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชบางราย เป็นผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาในด้านการอ่านและการมองเห็น ทำให้ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องตามแผนการรักษาของแพทย์  

กรมสุขภาพจิตจึงได้เร่งแก้ไขปัญหา โดยมีนโยบายให้โรงพยาบาลจิตเวชฯ นำคิวอาร์โค๊ด (QR Code)  มาใช้กับระบบยาจิตเวช  เพื่อลดข้อจำกัดต่างๆ และให้ข้อมูลเรื่องยาแก่ผู้ป่วยและญาติด้วยวิธีการที่ง่ายขึ้นทั้งเรื่องตัวยา  ฤทธิ์ของยาในการรักษาโรคทางจิตเวช วิธีการกิน  และอาการข้างเคียงของยาที่สามารถเกิดขึ้นได้

รวมทั้งข้อห้ามต่างๆ ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพของยารักษาได้ผลไม่ดี  เพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข  ผู้ป่วยกินยาได้ถูกต้องตามแผนการรักษาของจิตแพทย์

ขณะนี้เริ่มแห่งแรกแล้วที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์  จ.นครพนม  ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งคนไทยและชาวสปป.ลาวใช้บริการวันละประมาณ 300 คน     

นายแพทย์กิตต์กวี  โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์  จ.นครพนม กล่าวว่า    ขณะนี้ฝ่ายเภสัชกรรมของโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯ ได้ทยอยจัดทำคิวอาร์โค๊ดยาจิตเวชทั้งเด็กและผู้ใหญ่กำกับในฉลากติดที่ซองยา  เริ่มจากยาที่ใช้บ่อยที่สุดก่อน 17 รายการ  เช่น ยารักษาโรคจิตเภท  ยารักษาโรคสมาธิสั้น ยารักษาโรคซึมเศร้า  

โดยจะสแกนคิวอาร์โค๊ดติดที่ฉลากยาทุกซอง  และให้รายละเอียดยาแต่ละตัวใน 2 รูปแบบคือเป็นข้อความสำหรับอ่านและเป็นคลิปเสียงด้วยสำเนียงภาคกลางและภาษาถิ่นอีสาน ซึ่งผู้ป่วยจากสปป.ลาวก็สามารถฟังเข้าใจได้  ส่วนผู้ที่มีปัญหาสายตาที่อ่านไม่ได้ ก็สามารถเลือกฟังเสียงได้  ซึ่งเภสัชกรจะให้คำแนะนำผู้ป่วยและญาติทุกคนก่อนจ่ายยา  

ในการสแกนคิวอาร์โค๊ด  ทำได้ง่ายมาก โดยให้ญาติผู้ป่วยจิตเวชใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน  สแกนที่ซองยาผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE)  หรือเครื่องอ่านคิวอาร์โค๊ด ( QR code reader )  ก็จะปรากฏข้อมูลของยาชนิดนั้นๆ ทันที 

ผู้ป่วยและญาติสามารถศึกษารายละเอียดการใช้ยาได้ด้วยตนเอง  ขณะเดียวกันก็สามารถเฝ้าระวังอาการที่เป็นผลข้างเคียงที่เกิดมาจากยานั้นๆได้  ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยใช้ยาอย่างมั่นใจและต่อเนื่อง  อีกทั้งยังเพิ่มความสะดวกให้บุคลากรสาธารณสุขที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยในชุมชน  สามารถติดตามผลการรักษาและอาการข้างเคียงจากยาที่ผู้ป่วยใช้ได้อย่างดีด้วย       

“จากการประเมินผลเบื้องต้น พบว่าทั้งผู้ป่วยและญาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ปกครองผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่นมีความพึงพอใจสูงกว่าร้อยละ 95   เนื่องจากได้รับความสะดวก สามารถเปิดดูข้อมูลได้ตลอดเวลา และรู้จักชื่อยาที่กิน มีความเข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ของยา และความรู้ต่าง ๆ ที่จะทำให้การรักษาได้ผลดี 

รวมทั้งข้อห้ามต่างๆระหว่างที่กินยา ข้อควรระวังในการเก็บรักษาตัวยาให้คงประสิทธิภาพต่อเนื่องส่งผลให้ผลการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น มีอาการดีขึ้นมาก ซึ่งปัญหาในการรักษาที่ผ่านมา เด็กมักกินยาไม่ครบถ้วน 

สาเหตุเกิดมาจากความวิตกกังวลของผู้ปกครองที่กลัวว่ายาที่ใช้รักษาเช่นยาเมทิลเฟนนิเดท  ( Methylphenidate) จะไปกดหรือบีบสมองของเด็ก  ซึ่งหลังจากนำระบบคิวอาร์โค๊ดมาใช้แล้ว ผู้ปกครองมีความเข้าใจที่ถูกต้องและดูแลการกินยาของลูกให้เป็นไปตามแผนการรักษาของจิตแพทย์เป็นอย่างดี” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว  

ทั้งนี้โรงพยาบาลฯจะเร่งดำเนินการพัฒนาคิวอาร์โค๊ด ให้มีทั้งภาพประกอบ ข้อความและเสียงในยาจิตเวชทุกตัวซึ่งมีกว่า 200 รายการ   ยาแต่ละตัวใช้เวลาฟังเพียง 2 นาที  สามารถฟังซ้ำไปซ้ำมาจนเข้าใจดีขึ้น และหากยังมีข้อสงสัย ก็สามารถคุยกับเภสัชกร ทางหมายเลข 042- 539032  ตลอด 24 ชั่วโมงด้วย

19 พฤศจิกายน 2560

ผู้ชม 3253 ครั้ง

Engine by shopup.com