จิตแพทย์วิเคราะห์ปัญหา “ลูกทะเลาะกัน เกลียดขี้หน้า ชิงชังกัน” ควรป้องกันแก้ไขที่ "ผู้ใหญ่" เตือนหากแก้ผิดวิธี อาจฝังรากลึกในใจเด็ก เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com

บทความ

จิตแพทย์วิเคราะห์ปัญหา “ลูกทะเลาะกัน เกลียดขี้หน้า ชิงชังกัน” ควรป้องกันแก้ไขที่ "ผู้ใหญ่" เตือนหากแก้ผิดวิธี อาจฝังรากลึกในใจเด็ก

กองบรรณาธิการข่าว เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com  รายงานว่า  นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตให้สัมภาษณ์ว่า  ปัญหาหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่ที่มีลูกหลายคนกลุ้มใจได้บ่อยๆ คือลูกทะเลาะกัน เข้ากันไม่ได้ ไม่รักกัน  หรือพี่ไม่ยอมให้น้องเข้าใกล้แม่  เรื่องนี้นับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้ใหญ่ต้องใส่ใจ  

เนื่องจากหากจัดการแก้ไม่ถูกวิธี เด็กจะฝังใจและลุกลามกลายเป็นความจงเกลียดจงชังกันไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้  ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าสาเหตุมักเกิดจากการปฏิบัติของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู หรือผู้ใหญ่ที่อยู่รอบๆ ตัวเด็กแทบทั้งสิ้น

ในการป้องกันปัญหาที่กล่าวมา  โดยเฉพาะครอบครัวที่กำลังจะมีสมาชิกคนใหม่ถัดไป  มีคำแนะนำ 5  ประการดังนี้ 1. ให้บอกลูกคนพี่เรื่องแม่จะมีน้องใหม่ตั้งแต่แม่เริ่มตั้งครรภ์ เพื่อให้พี่มีความรู้สึกที่ดีที่จะมีน้อง  ให้เด็กมีส่วนร่วมเช่นให้จับท้องแม่ตอนน้องดิ้น ร่วมตั้งชื่อน้อง

ประการสำคัญผู้ใหญ่ทุกคนในบ้านต้องระมัดระวังคำพูดที่ทำให้พี่มีทัศนคติที่ไม่ดีกับน้องตั้งแต่ยังไม่เกิด  เช่นคำพูดที่ได้ยินบ่อยว่า  ถ้าน้องเกิดมา หนูจะกลายเป็นหมาหัวเน่า ,พ่อแม่เค้ามีน้องใหม่ จะไม่สนใจเด็กดื้อๆแบบนี้  เป็นต้น 

2.ให้พี่มีส่วนร่วมดูแลน้อง เช่นช่วยอุ้มน้อง ดูแลน้องนอน สร้างความผูกพันให้พี่เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญสำหรับน้อง  3. เอาใจใส่ดูแลลูกคนพี่เหมือนเดิม  เนื่องจากไม่ว่าลูกจะโตแค่ไหนก็ยังต้องการความรักความสนใจจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเหมือนเดิม  อย่าดุตำหนิพี่ที่งอแง หรือมีพฤติกรรมถดถอยเหมือนน้อง

4.ไม่ควรใช้คำพูดในเชิงเปรียบเทียบระหว่างพี่กับน้อง จะทำให้เด็กที่ถูกเปรียบเทียบรู้สึกแย่ลง และพาลต่อต้านได้ และ 5 ให้ความรักลูกเท่ากัน ให้รางวัล ให้คำชื่นชมลูกทุกคนอย่างสม่ำเสมอ และควรลงโทษมาตรฐานเดียวกันเมื่อเด็กกระทำผิด  

แพทย์หญิงกุสุมาวดี  คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า  ปัจจุบันนี้ครอบครัวส่วนใหญ่ โดยเฉพาะครอบครัวเดี่ยว ให้พี่เลี้ยงหรือญาติพี่น้องช่วยดูแลลูก เนื่องจากพ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และเป็นเรื่องปกติเมื่อพี่น้องเล่นด้วยกันคือการทะเลาะกัน 

ถ้าผู้ใหญ่จัดการผิดวิธี ความรู้สึกไม่ดีต่อกันจะฝังอยู่ในใจลึกๆ พี่น้องไม่ชอบหน้ากัน ไม่รักกันติดตัวจนโตเป็นผู้ใหญ่  และเมื่อมีเรื่องในครอบครัวมากระทบ ความเกลียดชังที่ฝังในใจนี้จะระเบิดออกมา ส่งผลเสียได้ 

ดังนั้นหากเด็กๆทะเลาะกันระหว่างการเล่น  แนะนำให้พ่อแม่ พี่เลี้ยง ผู้เลี้ยงดู ทำดังนี้ 1. กรณีที่ไม่เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น  ไม่ควรตัดสินว่าใครผิดใครถูกเพราะอาจทำให้เด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่ลำเอียง ให้ใช้โอกาสนี้ปลูกฝังให้เด็กรู้จักการให้อภัยกัน  และรีบให้คำชื่นชมเมื่อเด็กๆมีวิธียุติปัญหาอย่างสร้างสรร  หากเด็กยังไม่ยุติให้เบี่ยงเบนความสนใจ เช่นแยกเด็กแต่ละคนออกไป หรือพาไปทำกิจกรรมอื่น

2.ในกรณีที่ผู้ใหญ่เห็นเหตุการณ์ว่าใครเริ่มก่อน  ต้องสอนให้เด็กคนที่ตีหรือทำร้ายกล่าวคำขอโทษ และอีกฝ่ายให้อภัยกัน รวมถึงบอกผลเสียของการโกรธกัน จะทำให้เล่นกันไม่สนุก ผู้ใหญ่ควรใจเย็นๆ ไม่ควรตำหนิเด็กทันที เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี 

3.พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูควรปลูกฝังเด็กให้รู้จักแบ่งปันของเล่น แสดงความมีน้ำใจ ซึ่งเป็นการพัฒนาด้านอีคิวหรือเชาวน์อารมณ์ของเด็ก ไม่ควรสั่งให้พี่เสียสละให้น้อง หรือใช้วิธีบังคับให้เด็กแบ่งของเล่นกัน  ควรให้สิทธิ์คนที่เป็นเจ้าของของเล่นสามารถตัดสินใจเองว่าจะแบ่งหรือไม่  เมื่อเด็กแบ่งปัน ต้องให้คำชื่นชมเด็กทันที  และให้กล่าวคำชมเชยทุกครั้งที่เด็กเล่นด้วยกันดีๆและสงบ  

ประการสุดท้ายระหว่างที่เด็กๆเล่นกัน ผู้ปกครองควรอยู่ใกล้ๆ คอยดูแล แนะนำ  เนื่องจากการเล่นกับคนอื่น คือจุดเริ่มต้นของการเข้าสังคมของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความฉลาดทางอารมณ์ให้เด็กได้เป็นอย่างดี 

21 พฤศจิกายน 2560

ผู้ชม 2799 ครั้ง

Engine by shopup.com