เตือนด่วน !! "พ่อแม่ คนใกล้ชิด" จับตาดู บุตรหลาน "ติ่งเกาหลี" !! หวั่นฆ่าตัวตาย เลียนแบบคนดัง หรือ "Copycat Suicide" เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การค้าการลงทุนด้านสุขภาพ

บทความ

เตือนด่วน "พ่อแม่ คนใกล้ชิด" จับตาดู บุตรหลาน "ติ่งเกาหลี" หวั่นฆ่าตัวตาย

 

 MED HUB NEWS -  ข่าวการจากไปอย่างกะทันหันของ จงฮยอน สมาชิกวง SHINee ที่สื่อเกาหลีออกมารายงานว่าได้เสียชีวิตท่ามกลางความสับสนของเหล่าแฟนคลับ ก่อนต้นสังกัด SM Entertainment จะออกมายืนยันข่าวว่าเป็นความจริง

กองบรรณาธิการข่าว เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com รายงานว่า น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก จำนวนกว่า 8 แสนคนต่อปี คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2563

โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน สำหรับความกังวลเป็นห่วงแฟนคลับ หวั่นเกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบคนดัง หรือ Copycat Suicide  ในเมืองไทย นั้น  การเลียนแบบจะไม่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีความคิดฆ่าตัวตายอยู่ก่อน

แต่สำหรับคนที่คิดฆ่าตัวตายอยู่แล้ว อาจจะทำให้เห็นช่องทางหรือวิธีการที่จะฆ่าตัวตายมากขึ้น ถ้าบุคคลที่ฆ่าตัวตายมีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักในสังคม จะมีผลให้คนมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายตามได้

ทั้งนี้ ต้องดูความเปราะบางด้านจิตใจ หรือผูกพันกับผู้ตายขนาดไหน ผูกพันมากก็ทำให้หวั่นไหวตามมาก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในเมืองไทยกระแสการฆ่าตัวตายเลียนแบบบุคคลมีชื่อเสียงจะยังมีไม่มากนัก ก็ไม่ควรชะล่าใจ ซึ่งเรื่องนี้ต้องระวัง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องช่วยกันไม่ให้เกิดขึ้น

อย่างสื่อเอง ในการพาดหัวหรือการแจงรายละเอียดการฆ่าตัวตายก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะหากบรรยายมากเกินไปอาจเกิดผลกระทบได้ แต่ให้เน้นไปที่แนวทางการป้องกัน ดูแล ช่วยเหลือ ผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายให้มากขึ้น

ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากลูกหลานมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงก็ต้องใส่ใจ ซักถาม และทำความเข้าใจ เช่น ร้องไห้บ่อย เก็บตัว ไม่พูด เหม่อลอย บางครั้งจะพูดถึงเรื่องฆ่าตัวตาย บ่นไม่อยากมีชีวิต ชีวิตไม่มีคุณค่า เป็นต้น สัญญาณเตือนเหล่านี้ พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ หมั่นสังเกตเด็กในปกครอง อย่าคิดว่าเป็นการพูดเล่น เพราะนั่นเท่ากับปล่อยโอกาสการช่วยเหลือให้ลดน้อยลงทุกที 

รวมไปถึงต้องดูแลเด็กที่เคยฆ่าตัวตายมาแล้วอย่างใกล้ชิด เพราะโอกาสที่จะกลับไปฆ่าตัวตายซ้ำมีมาก และโอกาสที่จะทำสำเร็จก็มีมากเช่นกัน แม้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ควรป้องกันไว้ก่อนดีที่สุด

สำหรับ แฟนคลับ ก็ขอให้ชื่นชมในความสามารถของบุคคลนั้น การฆ่าตัวตายไม่ใช่ทางออกของปัญหา ขอให้มองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์    มองเป็นบทเรียน ไม่มีใครอยากฆ่าตัวตาย และคงไม่หวังที่จะให้คนอื่นฆ่าตัวตายตาม การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ส่วนภาวะซึมเศร้าก็สามารถรักษาให้หายได้เช่นกัน หากเกิดภาวะซึมเศร้า คิดสั้น ทำใจไม่ได้ ให้พูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่ง การปรึกษาจิตแพทย์ไม่จำเป็นว่าต้องป่วย ทุกคนสามารถปรึกษาเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ด้าน นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวเสริมว่า อัตราการฆ่าตัวตายล่าสุด ของคนไทย    ปี 2559 อยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ลดลงจากปี 2558 ที่มีอัตรา 6.47 ต่อประชากรแสนคน โดยช่วงอายุ 35-39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด ขอย้ำว่า ปัญหาการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย

ซึ่งทุกคนสามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายลงได้ สัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตาย เช่น เวลาพูด มีน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ พูดเปรยๆ ว่า อยากตาย

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีปัญหาโรคซึมเศร้าอยู่เดิม ประสบปัญหาชีวิต ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ทั้งนี้ คนรอบข้างสามารถช่วยได้

โดย การใส่ใจ รับฟัง พูดคุยเป็นเพื่อน แม้กระทั่ง การกล่าวคำว่า ขอบคุณ เพื่อให้เขากล้าที่จะบอกความรู้สึกทุกข์ทรมานใจและกล้าที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากสังคมและคนรอบข้าง

                           

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News  

 

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

04 ธันวาคม 2561

ผู้ชม 3097 ครั้ง

Engine by shopup.com