"ชีวิตไร้ Long Weekend" ภูผา วันเฉลิม กับภารกิจกู้ชีพ ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์
"ชีวิตไร้ Long Weekend" ภูผา วันเฉลิม กับภารกิจกู้ชีพ ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์
MED HUB NEWS - สหวิชาชีพด้านสาธารณสุข ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เสียสละ ทำงานในช่วงวันหยุดยาวโดยบุคลากรในโรงพยาบาลต้องเตรียมความพร้อม
ทั้ง ศูนย์รับแจ้งเหตุ และสั่งการ ระบบบริการแพทย์ฉุกเฉิน ( สพฉ.) เตียงรองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอซียู ยาเวชภัณฑ์ คลังเลือด ออกซิเจน
รวมทั้ง ระบบการส่งต่อ รถกู้ชีพ รถกู้ภัย ทีมอาสาสมัครบางแห่งมีการเสริมเจ้าหน้าที่เป็น 2 เท่า
แม้ว่าจะมีเสียงติติงบ้าง แต่การทำงานของ ระบบบริการแพทย์ฉุกเฉิน ก็พัฒนาเรื่อยๆ ปัญหามีไว้แก้ไข ดังนั้นจึงทำให้ การส่งต่อ รถกู้ชีพ รถกู้ภัย ทีมอาสาสมัคร และ สพฉ.ทำงานประสานกันได้ดีมากขึ้น
หลังจากทีมข่าวเว็บไซต์ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ เคยได้นำเสนอสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับระบบ “ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน” ไปแล้วนั้น ทำให้มีประชาชนเข้าใจ “สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ” ( สพฉ.) มากยิ่งขึ้น
medhub news.com เราได้ลงพื้นที่เกาะติดการทำงานของ “ภูผา วันเฉลิม” อาสากู้ภัยสว่างเมธาธรรม ของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งทีมข่าวของเราคุ้นเคยอย่างดี จึงต้องขอเกาะติด อาสากู้ภัยสว่างเมธาธรรม ร่วมรับรู้ถึงสถานการณ์ในช่วงเทศกาลต่างๆ
ทีมข่าวเว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com รายงานว่า ด้วยความที่เป็นนักร้องลูกทุ่ง และ เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งเป็นลูกชายตำรวจชั้นนายพัน ทำให้เราตามติดชีวิตการทำงานของเขาได้ง่ายกว่าบุคคลอื่นๆ
โดย คนรุ่นใหม่ “ภูผา วันเฉลิม”เจ้าของซิงเกิ้ล “ถ้าฮักเขา เราจบกัน” บัณฑิตป้ายแดงนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ม.รังสิต ได้เป็นวิทยากร บรรยายวิธีการทำ CPR หรือ “การปั๊มหัวใจ”ให้อาสาสามัครรุ่นน้องๆ เพื่อรับมือช่วยผู้ประสบอุบัติช่วงเทศกาล
“ทางมูลนิธิ ฯ จัดอบรม ให้อาสาสมัครน้องๆ ในช่วงก่อนปีใหม่ จะได้รับมือวิธีช่วยชีวิต ซึ่งอุบัติเหตุจะเยอะครับ ให้อาสาสมัครช่วยได้ถูกวิธี อย่างทำแผล เคลื่อนย้าย หรือ CPR ปั้มหัวใจ
วิธีนี้ ละเอียดอ่อนมาก ถ้าไม่ถูกวิธีอาจทำให้เสียชีวิตได้ เห็นหลายๆ เคสครับ ชาวบ้านทั่วไปก็ทำได้นะ ถ้าเรียนรู้อย่างถูกวิธี ไม่ต้องรอหมอ หรือพยาบาล เจอเหตุฉุกเฉินทำได้เลย ไม่ผิดกม.ไม่ต้องกลัวโดนฟ้องร้อง เป็นมนุษยธรรมด้วย
“ผมทำงานด้านนี้โดยตรง ก็จะรู้วิธีปั๊มหัวใจ ใช้เครื่องชอทหัวใจ ผมอบรมได้ใบรับรองจากกองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบินกรมการแพทย์ทหารเรือ
มีบัตรพกติดตัวแสดงตัวได้ทำได้ทั่วโลกครับ ก็ได้ผู้หลักผู้ใหญ่ของมูลนิธิสว่างเมธา ช่วยให้เกิดโครงการนี้ นอกจากผมก็มีพี่ๆ ที่ชำนาญแต่ละด้านมาช่วยอบรมด้วย"
“จากประสบการณ์เป็นอาสามูลนิธิมานาน อุบัติเกิดจากเมาขับและขับรถเร็ว ประมาท ดังนั้นไปไหนให้เช็คตัวเอง เช็ครถ เช็คคนขับด้วย เมาอย่าขับ ไม่ขับเร็ว ซึ่งหากเป็นประชาชนทั่วไปเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า
การทำ CPR หรือ Cardiopulmonary resuscitation สำคัญมากเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย พื้นฐานของการทำ CPR อยู่ที่ C-A-B ได้แก่C – Compression กดหน้าอก เพื่อนวดหัวใจภายนอก A – Airways เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง
โดยการตั้งศีรษะของผู้ป่วยให้ตรง แล้วเชยคางขึ้นเล็กน้อย B – Breathing ช่วยหายใจด้วยการประกบปาก แล้วเป่าลมเข้าไป
ทั้งนี้ ภูผา ย้ำว่า ความสำคัญของการทำ CPR อยู่ที่การปั๊มหัวใจ ที่ต้องทำให้ถูกต้อง และทันเวลา เพราะหากสมองขาดออกซิเจนไปเกิน 4 นาที สมองอาจเสียหายได้
เราสามารถเข้าไปทำ CPR ให้กับผู้ป่วยที่หมดสติ ลมหายใจอ่อนหรือหยุดหายใจ หัวใจใกล้หยุดเต้น หรือหยุดเต้นไปแล้ว เช่น จมน้ำ หัวใจวาย สำลักควันไฟจากที่ที่เกิดไฟไหม้ อุบัติเหตุต่างๆ
สำหรับ วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง ประชาชนทั่วๆไป ควรตรวจดูความปลอดภัยบริเวณรอบๆ ตัวผู้ป่วย หากสถานที่รอบๆ ผู้ป่วยปลอดภัยดี ให้เข้าไปหาผู้ป่วยทำการยืนยันว่าผู้ป่วยหมดสติจริง
โดยการตีที่ไหล่แล้วเรียกด้วยเสียงดัง 4-5 ครั้ง หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ หายใจเองได้ ให้จับนอนตะแคง รอการช่วยเหลือ โทร 1669 ไม่ควรทำ CPR ขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติ
หากไม่ได้สติ ไม่ลืมตาจริงๆ และหยุดหายใจ ให้รีบโทรหา 1669 เช่นกัน แจ้งทีมงานว่าผู้ป่วยไม่ได้สติ หยุดหายใจ ให้นำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED มาด้วย
เริ่มทำการกดหน้าอก โดยจับผู้ป่วยนอนหงาย นั่งคุกเข่าข้างผู้ป่วย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก อยู่ตำแหน่งตรงกลางระหว่างหน้าอก ระดับเดียวกับหัวนมพอดี
และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที ควรทำ CPR ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมแพทย์ หรือหน่วยกู้ภัยจะมา หากคุณไม่เคยเข้ารับการฝึกทำ CPR มาก่อน ให้กดหน้าอกเพียงอย่างเดียวไปเรื่อยๆ
หากคุณเคยทำ CPR แล้ว อาจกดหน้าอกสลับกับการเป่าปากช่วยหายใจได้ โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับมาเป่าปากช่วยหายใจ 2 ครั้ง
ในกรณีที่มีคนอยู่ด้วยหลายคน สามารถสลับให้คนอื่นมาช่วยปั๊มหัวใจแทนได้ สิ่งสำคัญคือควรทำ CPR ไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมกู้ภัย หรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จะมา แล้วเข้าช่วยเหลือด้วยเครื่อง AED อีกครั้ง ก่อนนำส่งโรงพยาบาล
แม้ว่าบางครั้ง การทำ CPR ไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะกดหน้าอกเบาไป ช้าไป กดไม่ตรงจุด หรือเข้าไปช่วยเหลือเพื่อทำการปั๊มหัวใจช้าเกินไปตั้งแต่แรก
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการทำ CPR ควรเรียกคนมาช่วย รีบโทร 1669 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่เร็วที่สุด หากสามารถนำส่งโรงพยาบาลด้วยตัวเองได้ ก็สามารถทำ CPR ระหว่างนำส่งโรงพยาบาลได้เช่นกันครับ” ภูผา กล่าวทิ้งท้าย
ภาพจาก สพฉ. กู้ภัยสว่างเมธาธรรม , ภูผา วันเฉลิม
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
03 มกราคม 2562
ผู้ชม 3424 ครั้ง