เมืองไทยยังขาดแคลน "ห้องปฏิบัติการ มาตรฐาน OECD GLP" ทำให้พัฒนาวิชาการช้า ขาดโอกาสแข่งขันผลิต "ยา แล ะผลิตภัณฑ์สุขภาพ"
เมืองไทยยังขาดแคลน "ห้องปฏิบัติการ มาตรฐาน OECD GLP" ทำให้พัฒนาวิชาการช้า ขาดโอกาสแข่งขันผลิต "ยา แล ะผลิตภัณฑ์สุขภาพ"
ผู้สื่อข่าวกองบรรณาธิการ www.medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ และ เพจ sasook รายงานว่า ( วันนี้ ) 9 มกราคม 2561 ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
มอบใบประกาศรับรองห้องปฏิบัติการที่ดีตามหลักการมาตรฐาน OECD GLP ให้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการ แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายนโยบายและแผนและรักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ ร่วมแสดงความยินดี
ในโอกาสที่ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ ได้รับการรับรองให้เป็นหน่วยที่สามารถบริการทดสอบความปลอดภัยตามหลักการมาตรฐาน OECD GLP ในด้านการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
นับว่าเป็นต้นแบบที่ดีให้ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งอื่นๆ ในประเทศ เพื่อให้พัฒนาศักยภาพหน่วยงานห้องปฏิบัติการ ให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยินดีให้การสนับสนุน ทุกหน่วยงานอย่างเต็มความสามารถ
สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะหน่วยตรวจสอบ ( National OECD GLP Compliance Monitoring Authority : CMA ) มีภารกิจสำคัญในการขึ้นทะเบียนหน่วยงานที่ศึกษาวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข
ซึ่งไม่ได้ทดลองในคน ( non-clinical research and development ) ให้มีการดำเนินการ ตามมาตรฐานห้องปฏิบัติการที่ดี GLP เพื่อสนับสนุนหน่วยงานที่ศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์
ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ยา ยาปราบศัตรูพืช สารเคมี เครื่องสำอาง ตามหลักการของ OECD GLP ให้มีการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการที่เหมาะสมทันกับ สถานการณ์ของประเทศและของโลก
ในการปกป้องคุ้มครองสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งในข้อกฎหมายของแต่ละประเทศหรือองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น EU กำหนดสินค้าทุกชนิดที่ใช้สารเคมีต้องจดทะเบียน ประเมิน อนุญาตและจำกัดการใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ ที่นำเข้า
โดยจะยอมรับข้อมูลจากห้องปฏิบัติการที่มีระบบคุณภาพ OECD GLP เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยมีคุณภาพสูงและเชื่อถือได้ เป็นที่ยอมรับทั่วกันของประเทศสมาชิก
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่าในด้านการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ ประเทศไทยยังขาดช่วงการพัฒนายาในการศึกษาด้านสุขภาพ และความปลอดภัยในระยะก่อนคลินิก ( pre-clinic )
เนื่องจากที่ผ่านมา ยังไม่มีหน่วยงานที่ผ่านการรับรองจาก OECD GLP ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการผลิตยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุน ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติมาโดยตลอด
หลังจากที่ใช้ความมุ่งมั่นในการปรับปรุงระบบห้องปฏิบัติการ เพื่อเข้ารับการตรวจสอบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ซึ่งบุคลากรทั้งหมดต้องใช้ความมุ่งมั่นอย่างสูงที่ต้องปรับปรุงแก้ไข
ไม่ว่า จะเป็นเรื่องระบบของห้องปฏิบัติการการทดสอบในสัตว์ทดลอง ผลการศึกษาวิจัย การควบคุมระบบคุณภาพให้สอดคล้องตามมาตรฐาน OECD GLP
ซึ่งนับจากนี้สามารถให้บริการทดสอบความปลอดภัยของสารต่างๆ ในสัตว์ทดลอง ไม่ว่าจะเป็นจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน โดยไม่จำเป็นต้องส่งออกไปทดสอบ ยังห้องปฏิบัติการต่างประเทศ
จึงช่วยให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ต้องรอคอย ทำให้เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้ากับต่างประเทศได้อย่างภาคภูมิ
www.medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ ของคนรุ่นใหม่
"Health News Leader Thailand and Health Data Science"
22 มกราคม 2561
ผู้ชม 2303 ครั้ง