ผลศึกษาวิจัยพบ "ภูมิปัญญานวดไทย" มีสรรพคุณ ฟื้นฟู "เด็กสมองพิการ" หรือ "โรคซีพี" ที่รักษาไม่หายขาด ช่วยผ่อนคลาย ได้ผลดี
ผลศึกษาวิจัยพบ "ภูมิปัญญานวดไทย" มีสรรพคุณ ฟื้นฟู "เด็กสมองพิการ" หรือ "โรคซีพี" ที่รักษาไม่หายขาด ช่วยผ่อนคลาย ได้ผลดี
ผู้สื่อข่าวกองบรรณาธิการ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ และ เพจ sasook รายงานว่า ผลการศึกษาวิจัย พบภูมิปัญญานวดไทย มีสรรพคุณใช้ฟื้นฟูเด็กสมองพิการหรือโรคซีพีที่รักษาไม่หายขาด ใช้เสริมการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันได้ผลดี
โดย กรมสุขภาพจิตได้เปิดคลินิกแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ในสถานพยาบาลที่อยู่ในสังกัด 18 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้บริการผู้ป่วยจิตเวชทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ซึ่งเป็นการรักษา ควบคู่กับการดูแลรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน พร้อมทั้งศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของการนวดต่างๆ ที่มีผลดีในการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชเ พื่อขยายผลใช้ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ เกิดประโยชน์สูงสุดในการเพิ่มคุณภาพบริการให้ผู้ป่วย
ในส่วนของ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการเฉพาะทางด้านการดูแลรักษาเด็กที่มีปัญหาในเรื่องพัฒนาการ ต่อปีให้บริการประมาณ 48,000 ราย เป็น เด็กสมองพิการหรือเรียกว่าเด็กซีพี ( Cerebral Palsy: CP ) ประมาณ ร้อยละ 5
เด็กกลุ่มนี้ร้อยละ 50-75 จะมีปัญหานอนหลับยาก เนื่องจากกล้ามเนื้อขาหดเกร็งบ่อยๆซึ่งเกิดจากสมองส่วนที่เรียกว่ามอเตอร์ คอร์เท็กซ์ ( Motor cortex ) ที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ถูกทำลาย ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกตลอดเวลา มีปัญหาข้อต่อยึดติด ส่งผลให้ผู้ปกครองต้องอดนอนไปด้วย
ด้าน แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สถาบันฯ โดยศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ทำการศึกษาในกลุ่มเด็กซีพี 46 คน อายุ 2-6 ปี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่นวดและกินยาลดเกร็งกล้ามเนื้อด้วย 22 คน และกลุ่มที่กินยารักษาอย่างเดียว 24 คน
โดยได้พัฒนานวดแบบกดจุดตามมาตรฐานวิชาการมีทั้งหมด 15 ท่า แตกต่างกันตามความรุนแรงโรคและตามอายุ การนวดจะใช้นิ้วหัวแม่มือกดนวดเฉพาะที่บริเวณกล้ามเนื้อเท่านั้นจุดละ 10 วินาที ที่กล้ามเนื้อต้นขาและน่อง นวดข้อนิ้วเท้าทุกข้อทั้ง 2 ข้าง
นวดหลังทั้งท่านอนตะแคงและท่านั่งนวดบ่า นวดแขน นวดท้อง นวดที่ใบหน้า บริเวณคิ้ว ใต้คาง ริมฝีปากบนและล่างเหมือนลักษณะการยิ้มจากนั้นใช้เครื่องมือมาตรฐานวัดการความแข็งเกร็งกล้ามเนื้อก่อนหลังทดลองทั้ง 2 กลุ่ม
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มเด็กที่ได้รับการนวดไทย 22 คน มีระดับการเกร็งกล้ามเนื้อขาโดยรวมลดลงร้อยละ 41 ขณะที่กลุ่มรักษาด้วยยาอย่างเดียวลดลงร้อยละ 8.3 ลดอาการเกร็งที่กล้ามเนื้อหน้าขา ลงได้ร้อยละ 55 ลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อน่องขาลงได้ร้อยละ 77
และลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อขาส่วนหลัง ( Hamstring muscle) ลงได้ร้อยละ 32 ขณะที่เด็กกลุ่ม 24 คน ที่กินยาอย่างเดียวให้ผลคลายกล้ามเนื้อที่หน้าขา น่องขา และกล้ามเนื้อขาด้านหลังร้อยละ 21 , 8.3 และ8.3 เท่านั้น โดยในปีนี้สถาบันฯได้ขยายผลการวิจัยในกลุ่มเด็กโรคนี้ในขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อสามารถยืนยันทางวิชาการในระดับสากลต่อไป
เทคนิคสำคัญของการนวดทั้ง 15 ท่า ในเด็ก ต้องนวดแบบนุ่มนวล ไม่มีการดัดดึงเหมือนการนวดในผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตกใจ
จะช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวข้อต่อ ลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด และระบบน้ำเหลืองในร่างกาย
กระตุ้นระบบประสาทสมองที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อภายนอกร่างกายให้ทำงานดีขึ้น ช่วยไล่ลมและลดอาการท้องอืด
กระตุ้นการขับถ่าย แก้ท้องผูก เด็กจะรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี ช่วยสร้างความผูกพันในครอบครัวได้ด้วย
08 มกราคม 2562
ผู้ชม 2998 ครั้ง