วิกฤต "วงการจิตแพทย์" คำสั่ง ผู้บริหารสาธารณสุข ลดอัตรากำลัง "กลุ่มงานจิตเวช" "ในวันที่คนไข้มากขึ้น จนทำให้ กำลังใจของ "จิตแพทย์ถูกบั่นทอน" เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com

บทความ

วิกฤต "วงการจิตแพทย์" คำสั่ง ผู้บริหารสาธารณสุข ลดอัตรากำลัง "กลุ่มงานจิตเวช"

วิกฤต "วงการจิตแพทย์" คำสั่ง ผู้บริหารสาธารณสุข

ลดอัตรากำลัง "กลุ่มงานจิตเวช"

ผู้สื่อข่าวกองบรรณาธิการ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ และ เพจ sasook รายงานว่า ทางเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” ซึ่งเป็นเพจที่จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ก่อตั้งขึ้นมานั้น

ได้โพสต์ภาพ และ ข้อความที่ชวนให้บรรดาประชาชนทั่วไป คนไข้ และ บุคลากรทางการแพทย์ สหวิชาชีพ ฯลฯ ถึงกับมีอารมณ์พุ่งปรี๊ด กับโพสต์ที่สร้างความไม่มั่นใจกับผู้บริหารสาธารณสุขในชุดนี้

โดยมีข้อความว่า  #ในวันที่กำลังใจของจิตแพทย์ถูกบั่นทอน

ช่วงนี้เพื่อนจิตแพทย์ผู้ใหญ่ และจิตแพทย์เด็กหลายคนในโรงพยาบาลต่างจังหวัด สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กำลังเกิดภาวะ "Burn out" จนเกือบหมดกำลังใจการทำงาน

ที่เพื่อนจิตแพทย์หลายๆ ท่านมีความเครียด และเกือบจะถอดใจ ไม่ได้เป็นเพราะจำนวนคนไข้ที่มาก ภาระงานที่เยอะอะไรหรอก ตรงนั้นชินเสียแล้ว ภาระงานมาก ไม่ได้หนักหนา ถ้ามีกำลังใจเพียงพอ

แต่เพราะกำลังรู้สึกว่า ไม่ได้รับการสนับสนุน แถมยังคล้ายกับว่าถูก ‘ตัดทอนพละกำลัง’ ที่เดิมก็มีอยู่น้อยนิด จนแทบจะแห้งเหือดไป เพราะคำสั่งอันหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขฉบับหนึ่ง

คำสั่งฉบับนี้มีผลกระทบอย่างมาก เรียกได้ว่ามากกว่าคำสั่งวันก่อนที่ออกมาว่า 'ห้ามชาร์ตแบตมือถือในโรงพยาบาล' หลายเท่านั้น

สรุปง่ายๆคือ กระทรวงกำหนดโครงสร้างอัตรากำลังใหม่ โดยลดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ในหน่วยงานของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงตามต่างจังหวัด ซึ่งทำให้กลุ่มงานจิตเวชของโรงพยาบาลต่างจังหวัด ที่เดิมก็งานล้นมืออยู่แล้วนั้น ทำให้คนทำงานเหลือน้อยลงไปอีก ประมาณนั้น

แบตหมด หรือ ไม่มีมือถือ หมอก็ยังทำงานกันได้ แต่ถ้าไม่มีคนช่วยทำงาน อันนี้มันอาจจะกระทบกันไปทั้งระบบ

ยกตัวอย่างจริง จากจิตแพทย์โรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในต่างจังหวัด (ขออนุญาตสงวนนามของโรงพยาบาล)

เดิมกลุ่มงานจิตเวช ของโรงพยาบาลแห่งนี้จะมีกรอบกำหนดจำนวนจิตแพทย์ไว้ว่า มีจิตแพทย์ได้ 8 คน ( จิตแพทย์ผู้ใหญ่ 5 + จิตแพทย์เด็ก 3 ) แต่คำสั่งใหม่ ลดจำนวนเหลือ 4 คน

บางคนอาจจะถามว่า อ้าว ก็ยังเหลือตั้ง 4 คน ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่งานจิตเวชในโรงพยาบาลต่างจังหวัดนั้น ต้องทำงานจิตเวชครบวงจร ตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ

อย่างจิตแพทย์ท่านนี้ ต้องรับผิดชอบทั้งงานตรวจคนไข้ที่ OPD  จิตเวช ( วันหนึ่งจำนวนคนไข้มากมาย ตรวจกันตั้งแต่เช้าจนเย็นก็มี) งานยาเสพติด มีวอร์ดรับคนไข้แบบนอกพักค้างคืน รับการปรึกษาจากแพทย์แผนกอื่นๆ อยู่เวรนอกเวลา ทำงานจิตเวชชุมชน สอนนักศึกษาแพทย์ ฯลฯ

"กระทรวงลดจำนวนจิตแพทย์แบบนี้ ทำงานไม่ได้แน่นอน นี่ยังไม่นับถึงการลดจำนวนพยาบาลอีก คงต้องปิดงานหลายๆ งานลงไป น่าเสียดายครับ"

ท่ามกลางปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชในประเทศไทยที่นับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเรื่องที่สังคมเห็นจากสื่อ เช่น 'โรคซึมเศร้า' เป็นต้น

แต่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ มีอะไรมากกว่าเรื่องของโรคซึมเศร้ามากมายนัก เพราะตั้งแต่ที่คนคนหนึ่งเกิดจนวันสุดท้ายของชีวิต เรื่องของ 'สุขภาพใจ' มีผลต่อการดำรงชีวิตไม่แพ้ 'สุขภาพร่างกาย'

ตั้งแต่ปัญหาเรื่องว่า กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เรียนไม่เก่ง อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซน ดื้อ ต่อต้าน ถูกเพื่อนแกล้ง ไม่ยอมไปโรงเรียน สอบตก ติดเพื่อน ติดเกม ติดยา ติดแฟน เบื่อเซ็ง เครียด ซึมเศร้า กังวล ยากจนและเกิดความเครียด ดื่มเหล้าจนเมา ทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย ฯลฯ ทุกอย่างเป็นอาการแสดงของภาวะปัญหาทางจิตใจทั้งนั้น

ประชาชนมากมายที่ต้องการความช่วยเหลือดูแล ตั้งแต่การป้องกันให้มีสุขภาพจิตที่ดีก่อนที่จะป่วย จนถึงการรักษาให้ดีขึ้น กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

จิตแพทย์ผู้ใหญ่ จิตแพทย์เด็ก เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็น 'ด่านหน้า' ที่สำคัญในการทำหน้าที่นี้ นับตั้งแต่การให้ความรู้ การป้องกัน การรักษา การฟื้นฟู

 ที่สำคัญ คนทำงานสุขภาพจิต ยังไม่เพียงพอต่อภาระงานที่มากมายนี้

ซึ่งคำสั่งที่กระทรวงออกมาเช่นนี้ กลายเป็นเหมือน 'ฟางเส้นสุดท้าย' ของจิตแพทย์ที่ทำงานหนักอยู่ต่างจังหวัดหลายๆคน ที่อยากจะบอกกับผู้มีอำนาจและฝากความหวังเอาไว้ว่า "ไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว"

ถ้าจิตแพทย์ผู้ที่ต้องไปดูแลจิตใจประชาชนรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจ หมอคิดว่า น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

มีคำพูดที่บอกว่า "ก่อนที่เราจะไปดูแลคนอื่นนั้น เราต้องดูแลตัวเองก่อนทั้งกายและใจต้องเข้มแข็งเพียงพอ ไม่งั้นเราคงจะไปดูแลคนอื่นๆไม่ได้"

พวกเราจิตแพทย์คงต้องพยายามเต็มที่ในการดูแลจิตใจของเราให้เข้มแข็ง แต่การ 'สนับสนุน' จากคนรอบข้างมีความสำคัญ

ฝากไปถึงรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายด้วยความเคารพว่า ขนาดเรื่องห้ามชาร์จแบตมือถือในโรงพยาบาล กระทรวงยังสามารถออกคำสั่งใหม่เพื่อยกเลิกได้

 คำสั่งเรื่องอัตรากำลังนี้ ก็ควรได้รับการพิจารณาใหม่ ควรต้องมีการพูดคุยอธิบายและชี้แจงในกลุ่มคนที่ทำงานจริง เพราะเรื่องนี้สำคัญกว่าการไม่มีที่ชาร์จแบตมือถือมากมายนัก

ถ้าจิตแพทย์เด็กหรือจิตแพทย์ผู้ใหญ่ ขาดกำลังใจในการทำงานบำบัดรักษา ช่วยตัวเองยังเอาไม่รอด การจะส่งกำลังใจถึงคนอื่นๆก็คงทำได้ยาก คนที่ได้รับผลกระทบย่อมหนีไม่พ้นคนไข้ รวมถึงประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา

แต่หมอก็ไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เขียนนี้จะไปถึงท่านหรือไม่ สำหรับโพสต์นี้ หมออยากให้ช่วยกันคนละไม้ละมือ ไลค์และแชร์กัน ไปให้ถึงนายกฯ เลยก็ยิ่งดีนะคะ

#หมอมินบานเย็น

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News

  

 

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา  

03 มกราคม 2562

ผู้ชม 15112 ครั้ง

Engine by shopup.com