"เรื่องเล่า จากห้องตรวจจิตเวช" หวั่นปรับกรอบอัตรากำลัง "สายจิตเวช"
"เรื่องเล่า จากห้องตรวจจิตเวช" หวั่นปรับกรอบอัตรากำลัง "สายจิตเวช"
ผู้สื่อข่าวกองบรรณาธิการ www.medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ และ เพจ sasook รายงานว่า ทาง เฟสบุ๊คแฟนเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” ซึ่งเป็นเพจที่บรรดา “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น” ก่อตั้งขึ้นมานั้น ได้โพสต์ภาพ และ ข้อความที่ชวนให้บรรดาประชาชนทั่วไป คนไข้ และ บุคลากรทางการแพทย์ สหวิชาชีพ ฯลฯ
ถึงกับมีอารมณ์พุ่งปรี๊ด กับโพสต์ที่สร้างความไม่มั่นใจกับผู้บริหารสาธารณสุขในชุดนี้ โดยเฉพาะกับคำสั่งต่างๆ ที่ออกมาจากสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข
โดยใช้หัวข้อว่า “ในวันที่กำลังใจจิตแพทย์ถูกบั่นทอน: ตอนที่ 2”
หลังจากที่หมอได้โพสต์บทความแรกเกี่ยวกับคำสั่งเรื่อง กรอบอัตรากำลังใหม่เจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานจิตเวชของโรงพยาบาลต่างจังหวัดในสังกัดสป. ที่ถูกปรับลด
จากที่ฟังคำสัมภาษณ์ของรองปลัดกระทรวงฯ ว่าจะ ‘ไม่ลดจิตแพทย์’ ต้องดูการประชุมพิจารณากรอบอีกครั้งในวันที่ 17 ม.ค.นี้
แต่ความเป็นห่วงคือคำสัมภาษณ์ของท่านอาจจะยังไม่ได้พูดถึง 'พยาบาล' หรือ 'นักจิตวิทยา' ซึ่งกรอบที่ประกาศใหม่เมื่อกลางปีก่อน บางโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ไม่มีกรอบตำแหน่งของพยาบาลจิตเวชด้วยซ้ำ
จริงๆ บทความแรกที่เขียนว่า กำลังใจของจิตแพทย์ถูกบั่นทอนนั้น ไม่ได้หมายความเฉพาะตัว จิตแพทย์เอง ถูกลดตำแหน่ง แต่หมายความยิ่งยวดไปถึงกลุ่ม 'พยาบาลจิตเวช' ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนงานจิตเวชในชุมชน
A คือ รพ ศูนย์ ขนาดใหญ่ทั่วประเทศ / S คือ รพ. ทั่วไปขนาดใหญ่ ( รพ.ประจำจังหวัด ทั่วประเทศ ) / M1 คือ รพ.ทั่วไปขนาดเล็ก / M2 คือ โรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย ขนาดใหญ่ 120 เตียง / F1 คือ โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ 90-120 เตียง / F2 คือ โรงพยาบาลชุมชนขนาดกลาง 30-90 เตียง / F3 คือ โรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก 30 เตียง
หมอได้คุยกับจิตแพทย์ท่านหนึ่ง ท่านได้เขียนบทความที่มีประโยชน์ที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจในเรื่องนี้ ขอคัดลอกบทความบางส่วนของท่านจาก http://bit.ly/2mCCnQi เพจ @เรื่องเล่าจากห้องตรวจจิตเวช
บทความยาวหน่อย แต่ก็อยากให้อ่านเพื่อความเข้าใจ
หมอตั้งเพจ ( เรื่องเล่าจะห้องตรวจจิตเวช ) นี้ขึ้น เพื่อสื่อไปยังคนนอก วงการงานจิตเวชให้ทราบถึงศักยภาพของคนไข้จิตเวชที่ผ่านการรักษา และขอโอกาสให้คนไข้จิตเวชของหมอได้มีที่ยืนในสังคมบ้าง แต่ไม่เคยนึกว่าวันหนึ่งจะต้องมาขอที่ยืนให้กลุ่มคนหนึ่งซึ่งมีส่วนร่วมกับความสำเร็จของการดูแลรักษาและฟื้นฟูคนไข้ของเรา นั่นคือ 'พยาบาลจิตเวช' นั่นเอง
ขอเล่าย้อนถึงเรื่องราวของระบบสาธารณสุขไทยช่วงเปลี่ยนผ่านเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน มีการนำการบริหารแบบ 'การแบ่งเขตสุขภาพ' มาใช้ (คือส่วนกลางกำหนดนโยบายใหญ่ แต่การนำนโยบายสู่การปฏิบัติสามารถปรับให้สอดคล้องกับบริบทหรือปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้
เช่น ส่วนกลางมีนโยบายแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย แต่เมื่อถึงการปฏิบัติระดับเขตนั้น เขตสาธารณสุข 12 ซึ่งเป็นพื้นที่พี่น้องมุสลิมทางภาคใต้ อาจปรับงานการป้องกันการฆ่าตัวตายแตกต่างจากพื้นที่อื่นเพราะการฆ่าตัวตายนั้นผิดหลักทางศาสนาอิสลาม ปัญหาการฆ่าตัวตายจึงแทบจะไม่มีเลยในพี่น้องมุสลิม)
ก่อให้เกิดการกำหนดงานสุขภาพจิตเข้าสู่ระบบการดูแลแบบเขตสุขภาพด้วย ( หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษคือ service plan ) เมื่อมีนโยบาย สิ่งที่ต้องเตรียมคือ 'กำลังพล' ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ จิตแพทย์เด็ก พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา และบุคลากรสาธารณสุขที่จะมาทำงานด้านจิตเวช
เมื่อเตรียม 'กำลังพลผู้ปฏิบัติงาน' ก็ต้องมี 'โครงสร้าง' หรือ 'กรอบงาน' และ 'ภาระงาน' ที่ต้องทำ จึงเป็นที่มาของการกำหนดกรอบงานให้สอดคล้องกับพื้นที่ขึ้น งานสุขภาพจิตในเขตสุขภาพทั่วประเทศจึงเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น อาจขัดสนติดขัดกันบ้างในช่วงแรกๆ แต่เมื่อทุกคนที่ร่วมกันทำงาน เราถือว่าเราคือ 'ทีมเดียวกัน' ช่วยกันฝ่าฟันสร้างระบบงานสุขภาพจิตและจิตเวชจนมาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีพอสมควร
แต่เมื่อกลางปี 2560 ที่ผ่านมา ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้มีการหารือเพื่อ 'ปรับกรอบอัตรากำลัง' ซึ่งเกี่ยวกับอัตรากำลังพลผู้ปฏิบัติงานจิตเวชขึ้นมา ซึ่งทราบว่าเป็นการหารือของผู้ที่เกี่ยวข้อง ( แต่ไม่ทราบว่าใช่คนหน้างานตัวจริงหรือไม่ )
ปรากฏว่าได้กรอบอัตรากำลังที่คนทำงานจิตเวชเห็นแล้วถึงกับอ้าปากค้าง ดังรูปประกอบนั่นคือ บุคลากรสายจิตเวช ถูกลดกรอบอัตรากำลังลง โดยเฉพาะกำลังพลสำคัญ คือ 'พยาบาลจิตเวช' นั่นเอง
ขออธิบายก่อนว่า 'พยาบาลจิตเวช'ทำอะไรบ้าง
หมอรวบรวมจากเหล่าจิตแพทย์ ที่สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคือเพื่อนร่วมงานตัวจริงกับ พยาบาลจิตเวช สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.)
อาจารย์จิตแพทย์ท่านหนึ่ง กล่าวว่า
“พูดถึงเรื่องความสำคัญของพยาบาลจิตเวช ผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ครับ สำหรับงานจิตเวช สป. หลายโรงพยาบาลที่ไม่มีจิตแพทย์ แต่ระบบงานจิตเวช ดำเนินการไปได้ด้วยพยาบาลจิตเวช
โดยใช้หมอแผนกอื่นๆ เป็นหัวหน้ากลุ่มงานจิตเวช เขาจะให้เกียรติพยาบาลจิตเวช ดำเนินการทุกอย่าง แม้แต่การเซ็นใบสั่งยาให้ โดยการแนะนำของพยาบาลจิตเวช งานอื่นๆ พยาบาลจิตเวชทำหมด เยี่ยมบ้านคนไข้ ให้คำปรึกษา ฯลฯ ในทางตรงข้าม ต่อให้มีจิตแพทย์แต่ไม่มีพยาบาลจิตเวช จบครับ ทำงานไม่ได้ เพราะพยาบาลจิตเวช จะดูแลทุกอย่าง ก่อนที่คนไข้จะได้พบจิตแพทย์”
อาจารย์จิตแพทย์ อีกท่าน ชี้แจงงานที่ พยาบาลจิตเวชทำอยู่ว่า
“พยาบาลจิตเวชทำงานเยอะแยะไปหมด เช่น ตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเก่าทั้งที่ขาดการรักษาหรือมีปัญหาการดูแลในชุมชน พร้อมค้นหาผู้ป่วยใหม่ ผู้ป่วยที่ถูกขัง/ล่ามโซ่ตรวน คนไข้ไม่กินยาก็ตามไปจัดยา เกลี้ยกล่อมให้กินที่บ้าน หรือ ให้มากินต่อหน้า ที่โรงพยาบาลสาธารณสุขตำบลทุกวัน
พยาบาลบางคนต้องเอางานไปทำต่อที่บ้าน บางทีไม่ได้กินข้าวกลางวัน ต้องเขียนการพยาบาลให้ได้ตามมาตราฐานHA บางครั้งวิ่งไปช่วยทำการให้คำปรึกษา การบำบัดต่างๆ ตอนแพทย์งานยุ่งๆ จัดยาให้ผู้ป่วยที่เดินทางมาตรวจลำบาก ค้นบัตร พิมพ์ใบสั่งยา ประสานเภสัชกร จัดกลุ่มยาที่จัดไว้ ส่งให้โรงพยาบาลสาธารณสุขตำบล ให้ผู้ป่วยมารับยาง่ายๆ
หรือแม้กระทั่งเอายาไปให้ที่บ้านถ้าคนไข้หรือญาติไม่มีรถมารับ ตามรถรีเฟอร์ไปส่งผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจิตเวช บางโรงพยาบาลไม่มีนักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวชก็ไปอบรมการทำ MMSE (การใช้แบบประเมินตรวจคัดกรอง) ในผู้ป่วยสมองเสื่อมให้แทนชั่วคราว
นอกจากนั้นยังเป็นเลขา service plan เตรียมสรุปผลงาน ทำ power point ไปประชุมแทนแพทย์ที่ติดตรวจ opd สารพัดงานจริงๆครับ”
อาจารย์จิตแพทย์อาวุโสอีกท่านได้กรุณาช่วยสรุปงานของพยาบาลจิตเวช ไว้ดังนี้
1.งานแผนกผู้ป่วยนอกแผนกจิตเวชและอื่นๆ 2. รับเข้าดูแล ผป ใน. 3.รับปรึกษาจากแผนกผู้ป่วยนอกแขนงอื่น 4. รับปรึกษาจากแผนกฉุกเฉิน (กรณีมีปรึกษาจิตเวช) 5. รับปรึกษาจากโรพงพยาบาลชุมชนในเครือข่าย
6. การจัดการภาวะวิกฤติทางอารมณ์ ( crisis intervention ) กรณี คลอดตาย แม่ตาย ลูกตาย 7. งานการให้คำปรึกษา ( Counselling ) 8. งาน OSCC 9.ร่วมสืบพยานเด็กทั้งกรณีเด็กเป็นเหยื่อหรือเด็กเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย 10. การจัดการประเมินและดูแลเบื้องต้นเมื่อเกิดภัยพิบัติ (Disaster Management)
11. คนสติไม่ปกติหรือก่อความรุนแรงที่อยู่ในสังคม 12. ปัญหาพฤติกรรมของเด็ก/วัยรุ่น 13. เยี่ยมผู้ป่วยที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต ( รพ.จิตเวช ) 14. รับส่งต่อตามระบบส่งต่อ 15. ออกตรวจประเมินผู้ป่วยจิตเวชที่โรงพยาบาลชุมชนและรายงานจิตแพทย์เพื่อร่วมวางแผนให้การดูแล
ไม่นับสารพัดแผนงานโครงการของกรมสุขภาพจิต กระทรวง พม. มหาดไทย หรือรัฐบาล
แต่สภาการพยาบาลคิดค่าภาระงานในกรอบอัตรากำลังที่มีปัญหานี้( ตัวย่อภาษาอังกฤษของภาระงานคือ FTE ) แค่ 1.9 หมายความง่ายๆคือ งานทุกอย่างนี้ คิดว่าใช้พยาบาลจิตเวชแค่ 1.9 คนหรือ 2 คนเท่านั้น !!!
อาจารย์จิตแพทย์ท่านหนึ่งได้สะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับกรอบอัตรากำลังของกระทรวงฯว่า “โรงพยาบาลของผมเป็นโรงพยาบาลศูนย์มีงานเกี่ยวกับจิตเวชที่ต้องรับผิดชอบมากมาย ทั้งโอพีดี วอร์ด งานสอนนักศึกษาแพทย์
เป็นโรงพยาบาลที่รับส่งต่อผู้ป่วยระดับต้นในเขต กรอบเดิม มีจิตแพทย์ได้ 8 คน ( ผู้ใหญ่ 5 + เด็ก 3 ) กรอบใหม่อันนี้ลดเหลือ 4 คน ทำงานจิตเวชครบวงจร งานตรวจ, ยาเสพติด, รับคนไข้ใน รับปรึกษาจากแผนกอื่นๆ อยู่เวรนอกเวลา ทำงานจิตเวชชุมชน สอนนักศึกษาแพทย์ OSCC MCAT ฯลฯ กรอบใหม่ให้มาเท่านี้ทำงานไม่ได้แน่นอน
พยาบาลกลุ่มงานจิตเวชที่นี่ ตอนนี้มี 7 คน ถ้าตามกรอบใหม่ เหลือ 3 คน กำลังหลักสำคัญของงานจิตเวชอยู่ที่ 'พยาบาลจิตเวช'
บางโรงพยาบาลไม่มีจิตแพทย์ แต่งานจิตเวชยังไปได้อยู่เพราะพยาบาลจิตเวชนี่แหละ เมื่อกรอบใหม่ตัดคน ลดพยาบาลจิตเวชลง งานจิตเวชทำต่อไปไม่ได้จริงๆ ต่อให้มีจิตแพทย์ก็เถอะ”
อีกเสียงสะท้อนของจิตแพทย์หญิงแกร่งอีกคนเมื่อได้เห็นกรอบอัตรากำลังนี้
“ตอนนี้พยายามสื่อสารให้พยาบาลจิตเวชทราบว่า ทางจิตแพทย์ก็มิได้นิ่งนอนใจกำลังช่วยกันเต็มที่ กำลังใจก็มากขึ้นเยอะเลยค่ะ ไม่มีพวกเค้า เราทำงานแทบไม่ได้ ที่ทนไม่ได้เลยคือเค้าถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม กลุ่มการพยาบาลในหลายรพ. ไม่ให้ความสำคัญกับงานจิตเวช ไม่มีความก้าวหน้าทางวิชาชีพเพราะตำแหน่งจะขึ้นสุดที่ซี 7"
ถ้าพยาบาลจิตเวชที่เคยทำงานสุขภาพจิตและจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชนและรพ.ทั่วไปตามต่างจังหวัดนั้น "ไม่มีที่" ให้เค้าอยู่ "ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในวิชาชีพ" และ"ไม่ได้ทำงานสุขภาพจิตและจิตเวช" แล้ว ใครจะทำงานส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตและดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ป่วย หรือกลุ่มที่ป่วยแล้วไม่ให้กำเริบอีก หรือก่อความรุนแรงขึ้นมา
เมื่อโรงพยาบาลใกล้บ้านของท่าน ไม่มีคนที่เชี่ยวชาญให้ท่านพึ่งพาได้ ท่านจะต้องตีรถเข้ามาที่รพ.จังหวัดเพื่อพบจิตแพทย์ ซึ่งจังหวัดหนึ่งมีจิตแพทย์เพียงไม่กี่คน ท่านจะทำอย่างไร
ปล.ข้อมูลที่นำมาเสนอได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อคิดเห็นด้วยวาจาแล้ว ข้อมูลบางอย่างต้องตัดออกเพื่อลดการพาดพิงถึงหน่วยงานอื่นให้มากที่สุด
สำนักข่าว เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ ของคนรุ่นใหม่
18 เมษายน 2561
ผู้ชม 8503 ครั้ง