กรมสุขภาพจิต เผย ผู้ป่วยจิตเวช ที่ต้องบำบัดรักษามี 5 อาการ "หูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวง ไร้เหตุผล คิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ เทพต่างๆ หรือ บินได้" เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com

บทความ

"ผู้ป่วยจิตเวช" ที่ต้องบำบัดรักษามี 5 อาการ "หูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวง ไร้เหตุผล คิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ เทพต่างๆ หรือ บินได้"

ผู้สื่อข่าวกองบรรณาธิการ medhubnews.com  เว็บไซต์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ และ เพจ sasook รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้เร่งผลักดัน การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต ( พ.ร.บ.) พ.ศ. 2551 

ซึ่งมีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิต ซึ่งถือว่าเป็น “ผู้ป่วย” ให้ได้รับการบำบัดรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์และคุ้มครองความปลอดภัยสังคมจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต

ถือเป็นวิกฤติสังคมประเภทหนึ่ง  เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกัน  ที่ผ่านมาพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีข้อจำกัดทางการปฏิบัติ หลักๆมี 2 ส่วน คือ

การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตที่มีภาวะอันตราย ซึ่งสามารถใช้กฎหมายในการดูแลได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีคดีขึ้นก่อน 

และแนวทางการปฏิบัติงานของผู้เกี่ยวข้องของกฎหมายฉบับนี้ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจและฝ่ายปกครอง  ยังขาดความชัดเจนและการเชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกัน

ในการแก้ไขข้อจำกัดอุปสรรคที่กล่าวมา กรมสุขภาพจิตจึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้เกิดแนวทางในการประเมินอาการและนำส่งตัวผู้มีความผิดปกติทางจิต

“สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต ซึ่งเกิดมาจากความผิดปกติการทำงานของสมอง ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาตามมาตรา 22 ของพ.ร.บ.สุขภาพจิตพ.ศ. 2551 ได้แก่ผู้ที่มีอาการ 5 ลักษณะดังต่อไปนี้  1.หูแว่ว 2. เห็นภาพหลอน 3. หวาดระแวงไร้เหตุผล 4. คิดว่าตนเองมีความสามารถเหนือคนอื่น

เช่น เป็นบุคคลสำคัญ เป็นเทพเทวดา หรือ 5. แต่งกายแปลกกว่าคนปกติ ร่วมกับมีแนวโน้มจะมีอันตรายทั้งต่อตนเอง ผู้อื่นและสังคม ได้แก่ พยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายคนอื่น หากประชาชนพบเห็นผู้ที่มีลักษณะที่กล่าวมาและมีภาวะอันตราย  สามารถโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ได้

2 ช่องทางคือสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 และสายด่วนตำรวจ 191 เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำตัวเข้ารับการบำบัดรักษาตามกฎหมาย  หากบุคคลเหล่านี้ได้รับการรักษาและอยู่ในระบบการดูแลอย่างต่อเนื่อง สมองก็จะทำงานได้ตามปกติ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ และบางโรคอาจรักษาหายขาดได้”  

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนเป็นสถานบำบัดรักษาตามกฎหมายฉบับนี้จำนวน 96 แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศจำนวน 19 แห่ง โดยกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่งที่จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปจำนวน 77 แห่ง

กระบวนการรักษาผู้ป่วยตามพ.ร.บ.สุขภาพจิตฯนั้น จะมีคณะกรรมการสถานบำบัดรักษาประกอบด้วยทีมสหวิชาชีพ 5 สาขา ได้แก่ จิตแพทย์ แพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาคลินิกหรือนักสังคมสงเคราะห์ นักกฎหมาย 

ทำการประเมินผู้ป่วยว่ามีความผิดปกติทางจิตหรือไม่  มีศักยภาพในการต่อสู้คดีหรือไม่  รวมถึงทำหน้าที่วางแผนการบำบัดรักษาด้วย 

ทางด้านดร.แพทย์หญิงเบ็ญจมาส พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถิติของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในรอบ 6 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2555-2561มีผู้ป่วยจิตเวช ที่ได้รับแจ้งและออกปฏิบัติการช่วยเหลือ รวมทั้งหมด 79,864 ครั้ง

โดยมีอาการคลุ้มคลั่งมีภาวะทางจิตประสาทหรืออารมณ์   ซึ่งการปฏิบัติการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากจำนวน 11,266 ครั้งในปี 2551เพิ่มเป็น 15,697 ครั้งในปี 2560

ทั้งนี้โรคทางจิตเวช เกิดมาจากสมองทำงานผิดปกติ บางรายอาจก่อคดี เป็นอันตรายต่อผู้อื่นและสังคม ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เกิดจากการขาดยาและใช้สารเสพติด

โรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ 1.โรคจิตเภท ( Schizophrenia) 2. โรคอารมณ์แปรปรวน (Bipolar disorder) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว 3.โรคซึมเศร้า (depressive disorder) 4. โรคสติปัญญาบกพร่อง ( Mental retardation)

5. โรคสมองเสื่อม ( Dementia) 6.ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ( Alcohol intoxication)   7. ภาวะเพ้อจากการถอนสุรา( Delirium tremens) พบในกลุ่มที่ติดเหล้าและหยุดดื่มอย่างกะทันหัน  

8. โรคลมชัก ( Epilepsy ) ที่มีอาการทางจิตร่วมด้วยและ 9.ผู้ที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personal disorder) เช่น เกเร ขาดคุณธรรม  

05 มกราคม 2564

ผู้ชม 2456 ครั้ง

Engine by shopup.com