"นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์" ทั่วประเทศ เร่งแก้ปัญหา "เชื้อแบคทีเรียดื้อยา" อบรมความรู้ใหม่ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์โลก เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com

บทความ

"นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์" ทั่วประเทศ เร่งแก้ปัญหา "เชื้อแบคทีเรียดื้อยา" อบรมความรู้ใหม่ๆ

ผู้สื่อข่าวกองบรรณาธิการ www.medhubnews.com   เว็บไซต์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ และ เพจ sasook  รายงานว่า นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาก่อโรคในคน เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

เนื่องจากพบว่าเชื้อโรคมีแนวโน้มดื้อยาต้านจุลชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรคติดเชื้อต่างๆ ที่เคยรักษาและควบคุมได้ กลายเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เพราะโรคติดเชื้อที่เคยรักษาหายกลับรักษาไม่หาย

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อในโรงพยาบาลที่มักจะได้ยามาหลายขนานแล้ว เชื้อดื้อยาเป็นภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่างมาก เพราะมีรายงานการวิจัยระบุว่าในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 46,000 ล้านบาท

และเมื่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยา จนครบทุกขนานก็จะไม่มียาใดสามารถรักษาโรคติดเชื้อได้อีกต่อไป ทั้งนี้การใช้ยาต้านแบคทีเรียที่มากเกินความจำเป็นจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการกลายพันธุ์ได้เร็วขึ้น

ดังนั้นการชะลอปัญหาเชื้อดื้อยาจึงต้องเริ่มต้นที่ห้องปฏิบัติการก่อน โดยการตรวจวิเคราะห์จะต้องได้ผลถูกต้องแม่นยำ รวดเร็ว และต้องคอยติดตามปรับปรุงวิธีตรวจให้ทันกับเชื้ออยู่เสมอ

นอกจากนี้การเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นกระบวนการแรกที่จะทำให้ทราบขนาดและแนวโน้มของปัญหาเชื้อดื้อยา รวมทั้งตรวจจับเชื้อดื้อยาอุบัติใหม่

แม้ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เพื่อรายงานอุบัติการณ์ของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคและแนวโน้มการดื้อยา แต่ยังขาดระบบเฝ้าระวังผู้ป่วย เพื่อระบุที่มาและกลุ่มของปัญหา ดังนั้นประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การอนามัยโลก

จึงรับหลักการตาม Global Action Plan for Antimicrobial Resistance Containment ที่จะเข้าร่วมดำเนินการระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาระดับโลก (Global Antimicrobial Resistance Surveillance System, GLASS) เพื่อให้ทราบขนาดของปัญหาการดื้อยาในแต่ละพื้นที่ทั่วโลก

ซึ่งเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน และประเมินกระบวนการจัดการโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนอย่างบูรณาการทันที เพื่อลดการป่วยตายจากการดื้อยาให้ได้ โดยคาดว่าภายใน 5 ปีจะลดได้ถึงร้อยละ 50

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินโครงการบูรณาการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเฝ้าระวังเชื้อเชื้อยา โดยได้จัดทำเป็นคำรับรองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ปัจจุบันมีโรงพยาบาลตอบเข้าร่วมเครือข่ายทั้งสิ้น 93 แห่งจาก 77 จังหวัด

ในจำนวนนี้มีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 5 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง จนสามารถจัดตั้งระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาทางห้องปฏิบัติการที่เป็นระบบฐานข้อมูลของประเทศได้

สำหรับการการอบรมในครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งประกอบด้วย นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์จากโรงพยาบาลและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ทันต่อสถานการณ์

อีกทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างห้องปฏิบัติการเครือข่ายและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการขยายขอบข่ายการเฝ้าระวังและควบคุมเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพให้ตอบสนองการใช้งานทุกระดับ

ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย”

www.medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ ของคนรุ่นใหม่ 

"Health News Leader Thailand and Health Data Science" 

https://www.facebook.com/Dr.sasook

17 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้ชม 1608 ครั้ง

Engine by shopup.com