ปัญหาเด็กติดเกมส์ ก่อพิษรุนแรงน่าห่วง เด็กป่วยเพิ่มขึ้น 6 เท่า
ปัญหาเด็กติดเกมส์ ก่อพิษรุนแรงน่าห่วง เด็กป่วยเพิ่มขึ้น 6 เท่า
กองบรรณาธิการ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ และ เพจ sasook รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุถึง ปัญหาการติดเกมของเด็กและวัยรุ่นไทยขณะนี้น่าเป็นห่วงมาก
สังคมต้องช่วยกันแก้ไขป้องกันเรื่องนี้อย่างจริงจัง จากการวิเคราะห์สถานการณ์ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กทม.พบว่าในปี 2560 มีเด็กป่วยเป็นโรคติดเกม ( game addiction ) รายใหม่เข้ารับการรักษารวม 129 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 6 เท่าตัว
จนถึงขณะนี้มีเด็กที่ป่วยและได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่าเป็นโรคติดเกมรวม 429 ราย หรือพบได้ 1 ใน 3 ของเด็กป่วยทั้งหมด มากเป็นอันดับ 3 รองจากโรคสมาธิสั้น
และปัญหาพฤติกรรมดื้อรั้น โดยพบในเด็กผู้ชายมากกว่าหญิงอัตรา 7 ต่อ 1 อายุน้อยสุด 5 ขวบ มากสุด 17 ปี เด็กที่ป่วยใช้เวลาเล่นเกม 34 เดือน เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง สถานที่ที่เด็กใช้เล่นเกมออนไลน์มากที่สุดคือบ้านพบร้อยละ 97 ที่โรงเรียน ร้อยละ 72
สำหรับรายงานผลการศึกษาของทีมจิตแพทย์เด็กฯที่ตรวจรักษาเด็ก 6-17 ปีที่ป่วยเป็นโรคติดเกมว่าจะพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆด้วยถึง 3-8 โรค มากที่สุดคือ โรคสมาธิสั้น พบทุกวัยร้อยละ 77 เด็กจะวู่วาม อดทนต่ำ
อันดับ 2 โรคซึมเศร้า ( Depression ) ร้อยละ 39 อันดับ 3 โรควิตกกังวล ( Anxiety ) ร้อยละ 38 อันดับ 4. เด็กมีปัญหาการเรียนรู้ ( Learning disorder) การเขียนการอ่านจะด้อยกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน พบร้อยละ 35
โดยในกลุ่มอายุ 13-17 ปี จะพบโรคทางจิตเวชร่วมมากถึง 8 โรค ได้แก่สมาธิสั้น ปัญหาการเรียนรู้ โรควิตกกังวลกลัวเข้าสังคม ย้ำคิดย้ำทำ ซึมเศร้า โรคอารมณ์ 2 ขั้ว โรคจิตหวาดระแวง และโรคลมชักด้วย
“การติดเกมจะขัดขวางพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม เกิดผลเสียกับอนาคตของเด็กทั้งบุคลิกภาพ ความคิด การเรียน การทำงาน เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก ทุกฝ่ายทั้งครอบครัว โรงเรียน และสังคม ต้องเร่งป้องกันแก้ไขก่อนสายเกินแก้
มิฉะนั้นเด็กและเยาวชนไทยที่มีไอคิวดี อาจกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีสมรรถนะเสื่อมถอย เรียนไม่ได้ และเกมจะกลายเป็นต้นตอสำคัญของการป่วยโรคจิตเวชคนรุ่นใหม่
ได้ให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์พัฒนาระบบการดูแลรักษา และร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อการป้องกันอย่างเร่งด่วน” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ทางด้านแพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม.กล่าวว่า ในปี 2559 คาดว่ามีเด็กไทยเข้าข่ายติดเกมแล้วแต่ยังไม่ถึงขั้นป่วยประมาณ 1.6 ล้านคน เกมที่เล่นแล้วทำให้ติดและมีผลกระทบมี 3 ชนิดคือเกมยิงต่อสู้(Shooting game) เกมโมบา (MOBA) ชนิดที่เป็นสงคราม การต่อสู้ออนไลน์ และประเภทสปอร์ต(sport)
โดยเด็กอายุ 7-12 ปี จะนิยมเล่นเกมยิงต่อสู้ กลุ่มอายุ 13-17ปี ซึ่งมีไอคิวระดับเลิศเฉลี่ย122คะแนน นิยมเล่นเกมโมบา เช่น ROV ,LOL เป็นต้น เล่นวันละ 1-4 เกม
ผลกระทบที่เกิดตามมากับการเล่นเกมออนไลน์ พบว่าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายพ่อแม่ ทำลายข้าวของร้อยละ 42 ,ไม่ไปโรงเรียนร้อยละ39 ,พยายามฆ่าตัวตาย ฆ่าเพื่อนพบร้อยละ 2 ที่รุนแรงคือหนีออกจากบ้านและออกจากการศึกษาภาคบังคับเริ่มพบร้อยละ 4
สาเหตุหลักเกิดจากการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมของครอบครัวเช่น ขาดวินัย ไม่มีข้อกำหนดการเล่นเกมสูงร้อยละ 72
สำหรับเด็กที่เป็นโรคติดเกมจะมีอาการสำคัญคือ เล่นเกมมาก หงุดหงิดถ้าไม่ได้เล่น มีปัญหาการเรียน ซึมเศร้า กังวล ก้าวร้าวไม่ฟังใคร
การดูแลรักษาจะใช้หลายวิธีร่วมกัน ทั้งใช้ยา การบำบัดจิตใจ พฤติกรรม บำบัดครอบครัวด้วยและติดตาม
โดยจะติดตามผลหลังบำบัดรักษา1,3และ6เดือน ค่ารักษาโรคติดเกมขั้นต่ำประมาณ 50,000 บาทจนถึงกว่า 250,000 บาทต่อคนต่อปี ใช้เวลาการรักษานานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาป่วยด้วย
ขณะนี้สถาบันฯอยู่ระหว่างการออกแบบการคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงติดเกมร่วมกับครูและการบำบัดครอบครัวในโครงการความร่วมมือ 1 โรงพยาบาล 1 โรงเรียน( One Hospital One School ) ซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นเหมือนโรคหรือความรุนแรงอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับการเรียน
ในส่วนของครอบครัวซึ่งมีความสำคัญที่สุด ควรเพิ่มความใส่ใจกับลูกโดยเฉพาะในบ้านที่ติดระบบอินเตอร์เน็ตแบบเหมาจ่าย ควรฝึกให้เด็กมีวินัย กำหนดเป็นกติกากับลูกด้วยหลักการ “ 3 ต้อง 3 ไม่”
โดย 3 ต้อง ได้แก่ 1.ต้องเลือกเกมให้ลูก 2.ต้องกำหนดเวลาเล่น สร้างวินัยให้เด็ก ในเด็กเล็กควรให้เล่นไม่เกินครึ่งชั่วโมง เด็กโตไม่เกิน 1 ชั่วโมง
3. ต้องเล่นกับลูกหรือดูกับลูกและสอนลูกว่าอย่างไหนเหมาะไม่เหมาะ ส่วน 3 ไม่ ได้แก่ 1. พ่อแม่ต้องไม่เล่นเกมทั้งวัน ไม่เป็นตัวอย่างที่ย่ำแย่ให้ลูก
2.ไม่ให้ลูกเล่นเกมในเวลาของครอบครัวเช่นขณะรับประทานอาหาร 3. ไม่ให้เกมอยู่ในครอบครองเป็นส่วนตัวจนเกินไปเช่นอยู่ในห้องนอน
ขณะเดียวกันต้องเสริมให้เด็กมีกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วย เช่นอ่านหนังสือ ช่วยงานบ้าน เล่นกีฬาเป็นต้น ส่วนมาตรการทางสังคมควรส่งเสริมให้มีเครือข่ายเยาวชนเข้มแข็งไม่ยุ่งเกี่ยวกับเกม ส่งเสริมเกมประเภทสร้างสรรค์ที่ให้ผลดีต่อการพัฒนาทั้งความคิด ความรู้ คุณธรรม
รวมทั้งการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์อย่างจริงจัง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com
25 ธันวาคม 2561
ผู้ชม 12053 ครั้ง