คนไทยรับลูกบุญธรรม เพิ่มมากขึ้นเกือบ 7 เท่าตัว จิตแพทย์แนะควรรับเด็กมาเลี้ยงดู ก่อนอายุ 6 เดือน
คนไทยรับลูกบุญธรรม เพิ่มมากขึ้นเกือบ 7 เท่าตัว จิตแพทย์แนะควรรับเด็กมาเลี้ยงดู ก่อนอายุ 6 เดือน
เว็บไซต์สุขภาพ ข่าวสุขภาพ ข่าวสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การค้าการลงทุนด้านสุขภาพ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว วาไรตี้ ธุรกิจบริการเชิงสุขภาพ
ผู้สื่อข่าวกองบรรณาธิการ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ และ เพจ sasook รายงานว่า กรมสุขภาพจิต เผยถึงสถานการณ์การขอรับบุตรบุญธรรมของครอบครัวไทยมีมากขึ้นกว่าอดีต
( อ่านข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ขั้นตอนการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม )
จากสถิติของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยรายงานในปี 2559 ทั่วประเทศมีผู้ที่จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม 9,339 คน เพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่าตัว
เมื่อเทียบกับพ.ศ.2554 ที่มีผู้ขอจดทะเบียนรับฯจำนวน 1,389 คน อันดับ 1 ได้แก่กรุงเทพมหานคร 1,224 คน รองลงมาคือชลบุรี 419 คน นครราชสีมา 280 คน เชียงใหม่ 264 คน
คาดว่าแนวโน้ม อาจมีมากขึ้นจากวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น ไม่สามารถมีบุตรได้ หรือ มีบุตรยาก ซึ่งผลสำรวจสุขภาพครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบประชาชนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-59 ปีที่มีคู่สมรส มีปัญหามีบุตรยากร้อยละ 9.8
รวมทั้งอาจรับรองบุตรของญาติพี่น้องมาเป็นบุตรตัวเอง หรือต้องการบุตรตามเพศที่ต้องการ
โดยก่อนรับบุตรบุญธรรม ทั้งสามีและภรรยาจะต้องผ่านการตรวจสภาพจิตตามกระบวนการทดสอบทางจิตวิทยา เป็นไปตามกฎหมายการรับบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 เพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กและเลือกสรรครอบครัวที่เหมาะสมให้กับเด็ก
สำหรับคู่สมรสที่ต้องการรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง กรมสุขภาพจิตมีคำแนะนำ 7 ประการ เพื่อให้ทั้งเด็กและพ่อแม่บุญธรรมมีความผูกพันเป็นครอบครัวที่อบอุ่น ดังนี้
1. ควรรับเด็กมาเลี้ยงตั้งแต่อายุไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมหลังคลอดทันที จะทำให้เด็กมีความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างเด็กกับพ่อแม่บุญธรรม
โดยในช่วงอายุ 4-6 เดือนแรกพ่อแม่บุญธรรม จะเป็นพ่อแม่คู่แรกและคู่เดียวที่เด็กพบและเกิดภาพที่ฝังใจ
หากช่วงอายุเด็กเกิน 4-6 เดือนไปแล้วจะเป็นช่วงที่เด็กรู้จักคนแปลกหน้าและกังวลต่อการพลัดพรากสูง หากนำมาเลี้ยงในช่วง 3-4 ขวบ เด็กอาจรู้สึกโกรธที่ถูกพลัดพรากจากครอบครัว อาจมีปัญหาปรับตัวเข้ากับพ่อแม่บุญธรรม
2.ควรให้แพทย์ตรวจร่างกายเด็กอย่างละเอียดและไม่พบความผิดปกติ 3. ตรวจสอบโรคที่สำคัญในเด็กเช่น เชื้อกามโรค ( VDRL)
การทดสอบภูมิต้านเชื้อวัณโรค ( Tuberculin test) เป็นต้น 4.ตรวจสอบภูมิหลังของเด็กพอควรแล้วว่าไม่มีอะไรที่ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติ 5. ถ้าเป็นเด็กโต ควรเป็นเด็กที่นับถือศาสนาเดียวกัน
6.ควรเป็นคู่สามีภรรยาที่แต่งงานถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากผู้ที่ไม่แต่งงาน อาจทำตัวให้เป็นทั้งบิดาหรือมารดาในเวลาเดียวกันได้ยาก และ 7.ควรมีการบอกความจริงแก่เด็ก
ช่วงเวลาที่เหมาะสม ควรบอกตั้งแต่เด็กอายุยังน้อยประมาณ 3-4 ขวบ ซึ่งเด็กพอจะสามารถเข้าใจได้บ้าง และควรบอกให้เด็กรู้เป็นระยะๆ เพื่อลดความกังวลและความสับสน
เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะค่อยๆเข้าใจมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการดีที่เด็กรู้ความจริงจากปากของพ่อแม่บุญธรรม ดีกว่าฟังจากคนอื่น ซึ่งอาจพูดถึงในแง่ดีหรือไม่ดีก็ได้
การที่เด็กรู้ความจริงภายหลัง จะสร้างความกระทบกระเทือนใจเด็ก ยิ่งไปกว่านั้น การปิดบังความจริงยิ่งทำให้พ่อแม่บุญธรรมต้องกังวลใจเรื่อยๆ ที่กลัวว่าเด็กจะรู้ความจริง
ในการบอกความจริงแก่เด็กนั้น พ่อแม่บุญธรรมไม่ควรบอกในขณะที่กำลังมีอารมณ์โกรธหรือมีการพูดย้ำไปย้ำมา
เนื่องจากเด็กอาจเกิดความรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ต้องการเขา ประการสำคัญที่สุดในขณะพูดนั้นพ่อแม่จะต้องแสดงออกถึงความรักทั้งท่าทาง น้ำเสียง และคำพูด
ทางด้านนายแพทย์ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันฯได้จัดทำแนวทางตรวจสภาพจิตตามกระบวนการทดสอบทางจิตวิทยาให้แก่ผู้ขอรับบุตรบุญธรรม ให้โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิตทั้ง 13 แห่ง
เพื่อให้บริการประชาชนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศเป็นไป ตามพระราชบัญญัติการรับบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงพ.ศ. 2554 ว่าด้วยการสอบคุณสมบัติ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ สภาพความเป็นอยู่และความเหมาะสมของผู้ขอรับบุตรบุญธรรม
บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม โดยจัดทีมสหวิชาชีพประกอบด้วย จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวชให้บริการทดสอบตามมาตรฐาน
ทั้งในด้านอารมณ์ การจัดการความเครียด การทดสอบสภาพทางจิตและบุคลิกภาพ การทอดสอบระบบประสาทหรืออื่นๆที่เหมาะสม รวมทั้งประวัติการเจ็บป่วย ประวัติครอบครัว
ทั้งนี้ สถาบันฯได้ เปิดคลินิกให้บริการในวันราชการในช่วงบ่ายวันจันทร์ และวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ใช้เวลาตรวจประมาณ 4 ชั่วโมง
และออกใบรับรองให้มีอายุ 6 เดือน ผู้รับบริการ ต้องมีเอกสารส่งตัวมาจากกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และมีคุณสมบัติเบื้องต้นคือจะต้องเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี
และต้องมีอายุแก่กว่าเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี ไม่มีประวัติมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงต่อคนอื่น
ในปี 2559 -2560 มีผู้ขอรับบุตรบุญธรรมตรวจสภาพทางจิตที่สถาบันฯรวม 287 คน กว่าร้อยละ 98 พบว่าปกติ มีความเหมาะสมในการเป็นผู้อุปการะเด็ก
และจากการศึกษาสภาวะสุขภาพจิตและลักษณะบุคลิกภาพของ ผู้ขอรับบุตรบุญธรรมในรอบ 4-5 ปีมานี้ พบอายุเฉลี่ย 44 ปี โดยรวม ทั้งชายและหญิงมีบุคลิกภาพปกติ มีความรับผิดชอบสูง มีความเป็นผู้นำ มีคุณธรรม จิตใจเข้มแข็ง อดทนต่อภาวะกดดันต่างๆได้ดี ควบคุมอารมณ์ และแสดงออกเหมาะสม
ส่วนมากมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเด็ก โดยเป็นปู่ย่าตายายร้อยละ 25 ลุงกับป้าร้อยละ 17 มีความต้องการอุปการะเลี้ยงดูเด็กร้อยละ 42 และเพื่อให้เป็นบิดามารดาอย่างถูกต้องตามกฎหมายร้อยละ 41
สามารถให้การดูแลส่งเสริมให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ประชาชนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถโทรขอรับคำปรึกษาได้ที่หมายเลข 02-4416100 และต่อที่ คลินิกบุตรบุญธรรม
“ผลของการรับบุตรบุญธรรม ทำให้บุตรบุญธรรมมีฐานะและสิทธิ หน้าที่อย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม เช่นการใช้นามสกุล การอุปการะเลี้ยงดู
การใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ แต่เด็กไม่ได้สูญเสียสิทธิหน้าที่ในครอบครัวเดิมที่ได้ถือกำเนิดมา เพียงแต่บิดามารดาเดิมหมดอำนาจปกครองหากบุตรนั้นเป็นผู้เยาว์”
อ่านข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ขั้นตอนการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
Thailand and Health Data Science
https://www.facebook.com/Dr.sasook
ภาพจาก The Adopted
05 มกราคม 2564
ผู้ชม 15558 ครั้ง