ผลวิจัยชี้ชัด “ผู้ป่วยจิตเวช” ทำจิตบำบัด ปรับ "ความคิดลบ" คู่กับการรักษาด้วยยา พบป่วยซ้ำเพียงร้อยละ 28 เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ

บทความ

ผลวิจัยชี้ชัด “ผู้ป่วยจิตเวช” ทำจิตบำบัด ปรับ "ความคิดลบ" คู่กับการรักษาด้วยยาได้ผลดี

สถานการณ์ขณะนี้เราพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชและผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น ปรากฎออกมาเป็นปัญหาสังคม เช่น ความรุนแรงต่อเด็กสตรี ครอบครัว  คดีอาชญากรรม เป็นต้น

ส่วนใหญ่มาจาก พื้นฐานครอบครัว  ปัญหาเศรษฐกิจ  การใช้สารเสพติดและพันธุกรรม ในปี 2560 มีผู้ป่วยจิตเวชขึ้นทะเบียนรักษา  2.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ  37 ของผู้ป่วยจิตเวชและผู้มีปัญหาสุขภาพจิต

กองบรรณาธิการ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ และ เพจ sasook รายงานว่า ผลสำรวจในปี 2556 คาดว่าจะมี 7 ล้านกว่าคนทั่วประเทศ ซึ่งกรมฯได้เร่งเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย ให้อสม.และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออกเยี่ยมบ้านดูแลผู้ป่วยจิตเวชร่วมกับครอบครัว

พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจผู้ป่วยโรคจิตเวช  ซึ่งจัดเป็นโรคเรื้อรังเหมือนโรคทางกาย   รักษาหายขาดหรือควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อยู่ร่วมกับครอบครัว ชุมชนได้เหมือนคนทั่วไป  ส่งผลให้แนวโน้มการเข้าถึงของผู้ป่วยดีขึ้นเรื่อยๆ โดยรวมจำนวนผู้ป่วยในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 4 เท่าตัว 

อย่างไรก็ตาม  การรักษาผู้ป่วยจิตเวช เช่นโรคจิตเภท ( Schizophrenia)   โรคซึมเศร้า (depression) โรควิตกกังวล ( Anxiety) หรือโรคจิตเวชจากการเสพสารเสพติดก็ตาม ไม่ได้หายจากยาอย่างเดียว บางคนต้องใช้การปรับพฤติกรรม ปรับความคิด เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่ จะมีความคิดที่บิดเบือนบางประกา

เกิดอารมณ์ และพฤติกรรม ที่เป็นลบ เช่น ผู้ป่วยซึมเศร้า มักคิดว่า ตัวเองถูกตัดออกจากโลกภายนอก ถูกแยกออกจากครอบครัว  มองทุกอย่างในแง่ลบ 

ไม่สามารถควบคุมการกระทำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จึงต้องใช้กระบวนการทางจิตวิทยา ปรับเปลี่ยนความคิดให้กลับคืนมาสู่สภาพความเป็นจริง 

ในปีนี้กรมฯ มีนโยบายนำวิธีการทำจิตบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิด หรือที่เรียกว่า ซีบีที ( Cognitive Behavior Therapy: CBT) มาใช้ดูแลผู้ป่วยควบคู่กับการใช้ยา เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา  จะทำให้ผู้ป่วยเข้าใจโรคหรือปัญหาที่เผชิญอยู่และใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

ซึ่งผลวิจัยพบว่าเมื่อใช้จิตบำบัดควบคู่กับยา จะสามารถป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำได้ผลดี เช่นใน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะมีอัตราการป่วยซ้ำเพียงร้อยละ 28  ขณะที่การรักษาด้วยยาอย่างเดียวจะเป็นซ้ำร้อยละ 60  โดยเริ่มที่เขตสุขภาพที่ 8 เนื่องจากมีความพร้อม 

ด้าน นางสาวจุฑามาศ  วรรณศิลป์  ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 8  กล่าวว่า  ในเขตสุขภาพที่ 8 ซึ่งมี  7 จังหวัด  ได้แก่อุดรธานี เลย นครพนม สกลนคร บึงกาฬ หนองคาย และหนองบัวลำภู 

คาดว่าจะมีผู้ป่วยจิตเวชประมาณ 2 แสนคน เช่นผู้ป่วยจิตเภท คาดว่ามีประมาณ 35,000  คน เข้าถึงบริการแล้วร้อยละ 65  มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 72,000 คน เข้าถึงบริการร้อยละ 60   มีผู้ติดเหล้าประมาณ 76,000คน เข้าถึงบริการร้อยละ17  มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 395 คน 

โดยในเขตสุขภาพที่ 8 มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนรวม 88 แห่ง  มีนักจิตวิทยาให้บริการ 22 แห่ง  ขณะนี้ศูนย์สุขภาพจิตได้พัฒนาเป็นเครือข่ายวิชาชีพนักจิตวิทยา

มีบทบาทคือให้การบำบัดผู้ป่วยด้านจิตวิทยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจ ตรวจวินิจฉัยทางจิตวิทยา  ส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน ทำงานเชื่อมโยงกับนักจิตวิทยาสังกัดอื่นๆที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น ในโรงเรียน สถานพินิจ เรือนจำ เป็นต้น  ให้การดูแลแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกัน  

สำหรับการอบรมหลักสูตรจิตบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิดครั้งนี้ เป็นหลักสูตรระยะสั้น 5 วัน เน้นฝึกปฏิบัติจริงมีมาตรฐานเดียวกัน  โดยนักจิตวิทยาจะให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชหลังจากที่พบแพทย์แล้วเพื่อปรับความคิด ช่วยให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ดีขึ้น  และใช้ในการให้บริการปรึกษาแก่ประชาชนในเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวันทั่วๆไปด้วย   

medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ

"Health News Leader Thailand and Health Data Science" 

https://www.facebook.com/Dr.sasook

02 มกราคม 2562

ผู้ชม 2180 ครั้ง

Engine by shopup.com