สถิติ "ผู้ป่วยโรคจิตเภท" ทั่วประเทศ 600,000 คนแล้ว พบชายไทย วัยแรงงาน มากสุด
สถิติ "ผู้ป่วยโรคจิตเภท" ทั่วประเทศ 600,000 คนแล้ว พบชายไทย วัยแรงงาน มากสุด
เว็บไซต์เมดฮับนิวส์ดอทคอม www.medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ เพจ sasook รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึง โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ จ.นครสวรรค์ ว่า
เป็น ศูนย์เชี่ยวชาญดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงยุ่งยากซับซ้อน ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ที่อยู่ใน พื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วยนครสวรรค์ ชัยนาท กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานีแล้ว
อีกทั้ง ยังเป็นศูนย์เชี่ยวชาญต้นแบบของประเทศ ในการดูแลรักษา ผู้ป่วยโรคจิตเภท ( schizophrenia ) ซึ่งผู้ป่วยโรคจิตเภท เป็นโรคที่พบมากที่สุดประมาณร้อยละ 60 ของกลุ่มโรคจิตเวชทั้งหมด คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 600,000 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ในปีที่ผ่านมาผู้ป่วยจิตเภทเข้าถึงบริการแล้ว 480,000 คน ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการโดดเด่น 4 อย่าง
ได้แก่ หลงผิด ประสาทหลอน พูดคุยไม่รู้เรื่อง หรือมีพฤติกรรมท่าทางแปลกๆ แต่งกายไม่เหมาะสม ซึ่งสามารถรักษาหายได้หากพบแพทย์เร็วและได้รับการดูแลฟื้นฟูที่เหมาะสม
โดยเฉพาะหากได้รับการดูแลไม่ดี เช่น ขาดยา ครอบครัวรังเกียจ ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ตั้งเป้าลดปัญหาการก่อความรุนแรงของผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมดนี้ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
ด้าน นายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคจิตเภทร้อยละ 50-70 จะมีอาการป่วยซ้ำได้อีกภายหลังรักษาแล้วภายใน 1 ปี
หากป่วยซ้ำบ่อยๆ จะมีผลเสียต่อเซลล์สมอง อาการผิดปกติจะกลายเป็นอาการถาวร รพ.ฯ ได้ใช้ มาตรการป้องกัน โดยจัดคลินิกใจดีที่แผนกผู้ป่วยนอกทุกวันจันทร์
เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจโรคแก่ผู้ป่วยและญาติในการปฏิบัติตัวและการดูแลที่บ้าน ขณะนี้มีสมาชิกทั้งหมด 55 คน พบว่าได้ผลดี ผู้ป่วยไม่กลับมารักษาซ้ำก่อนนัด 100 เปอร์เซ็นต์
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ ของคนรุ่นใหม่
Thailand Health and Wellness News ( ไทยแลนด์ เฮลท์ แอนด์ เวลเนสนิวส์ )
07 เมษายน 2561
ผู้ชม 4560 ครั้ง