คนไทยป่วย "โรคไตเรื้อรัง Chronic kidney disease" สถิติพุ่ง โดย 8 ล้านคนเข้าสู่ "ระยะสุดท้าย" ต้องฟอกเลือด ล้างไตแล้ว เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com

บทความ

คนไทยป่วย "โรคไตเรื้อรัง Chronic kidney disease"พุ่ง 8 ล้าน โดยแสนคนเข้าสู่ "ระยะสุดท้าย" ต้องฟอกเลือด ล้างไต

"โรคไตเรื้อรัง" เป็นภาวะการเสื่อมของการทำงานของไตเป็นเวลานาน อาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี อาการของการที่ไตทำงานเสื่อมลงนั้น เป็นอาการซึ่งไม่มีความจำเพาะ อาจมีอาการเพียงความรู้สึกไม่สบายตัวหรือไม่รู้สึกอยากอาหารได้

ส่วนใหญ่การวินิจฉัยไตวายเรื้อรังจะพบจากการตรวจคัดกรองในผู้ที่มีความเสี่ยงของการเป็นโรคไต เช่น ผู้ป่วยความดันเลือดสูง เบาหวาน หรือผู้ที่มีญาติเป็นโรคไตเรื้อรัง

นอกจากนี้ยังอาจตรวจพบเมื่อผู้ป่วยมีอาการจากภาวะแทรกซ้อนของโรคไต เช่น โรคของระบบหัวใจหลอดเลือด ซีด หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น 

กองบรรณาธิการ medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ และ เพจ sasook  รายงานว่า  นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ คนไทยป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน

โดยเป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 100,000 คน ที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง

และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15-20 ต่อปี ปั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติ ทำให้รัฐบาลต้องใช้ทรัพยากรบุคคลและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 20,000 ล้านบาท

ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดยุทธศาสตร์การคัดกรองโรคไตและชะลอความเสื่อมไต  เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

โดย ตั้งคลินิกชะลอไตเสื่อม ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยคลินิกดังกล่าวจะมีทีมสหวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพ และนักโภชนากร ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแบบองค์รวม

นอกจากนี้การตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ยังมีความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ อาจส่งผลกระทบต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้ ซึ่งโรคไตเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากระบบการทำงานของไตผิดปกติทำให้ไตไม่สามารถขับของเสีย

หรือรักษาความสมดุลของเกลือและน้ำในร่างกายได้โรคไตมีสาเหตุหลายอย่างได้แก่ โรคซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่นโรคถุงน้ำในไต โรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของไต โรคที่เกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ

และที่สำคัญคือโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด ความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน โรคความดันโลหิตสูง และเกิดโรคเบาหวานตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่พบบ่อยที่สุด

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถีกรมการแพทย์  ระบุถึงอาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต ได้แก่ ปัสสาวะเป็นฟอง เป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือขุ่นมีอาการบวมทั่วตัว

ซึ่งมักสังเกตได้ง่ายบริเวณเปลือกตา ขา เท้ามีอาการปวดหลังบริเวณใต้ชายโครงข้างกระดูกสันหลังมีความดันโลหิตสูง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไต ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตนเอง งดรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว

พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากมีสารพิษต่อไตโดยตรงควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐานเพราะน้ำหนักตัวมากเกินไปส่งผลให้ไตทำงานหนักไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ

เป็นสาเหตุให้เชื้อโรคแทรกซึมเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการอักเสบของท่อทางเดินปัสสาวะ และในกลุ่มเสี่ยงเช่นผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ ผู้มีประวัติเป็นนิ่ว หรือมีประวัติโรคไตในครอบครัว

ควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำโดยการตรวจเลือดและปัสสาวะอย่างน้อยปีละครั้ง เนื่องจากโรคไตช่วงแรกมักไม่แสดงอาการ หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com

Thailand Health and Wellness News  

( ไทยแลนด์ เฮลท์ แอนด์ เวลเนสนิวส์ ) 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ 

23 ธันวาคม 2565

ผู้ชม 5350 ครั้ง

Engine by shopup.com