คนไทยชอบ “อาหารรสแซ่บ นัว ฟิน” ! สาธารณสุข ชวนชุมชนลดเค็ม ลดโรค แนะ เคล็ดลับ "8 วิธี ลดเกลือ ในอาหาร"
คนไทยชอบ “อาหารรสแซ่บ นัว ฟิน” ! สาธารณสุข ชวนชุมชนลดเค็ม ลดโรค แนะ เคล็ดลับ "8 วิธี ลดเกลือ ในอาหาร"
กองบรรณาธิการ www.medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพของคนรุ่นใหม่ และ เพจ sasook รายงานว่า ทางแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดว่า สิ่งที่ให้ความเค็ม หรือ เกลือโซเดียม มีอยู่ในเกลือ หรือ น้ำปลาเท่านั้น
ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องปรุงรส เช่น ซีอิ๊ว ซอส ผงปรุงรส ผงชูรส รวมไปถึงอาหารกึ่งสำเร็จรูปต่าง ๆ เช่น บะหมี่-โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ขนมกรุบกรอบ
ล้วนมีสารให้ความเค็ม ( เกลือโซเดียม ) เป็นส่วนประกอบ ล่าสุดพบคนไทยบริโภคเกลือโซเดียมเฉลี่ย 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวันหรือกว่า 2 ช้อนชา เกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกคือ 2,000 มิลลิกรัมหรือ 1 ช้อนชาต่อวัน
โดยการบริโภค อาหารที่มีรสเค็มอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโรคดังกล่าวป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลด หวาน มัน เค็ม
ในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุข ได้นำร่อง “ชุมชนลดเค็ม ลดโรคต้นแบบ” ใน 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลกุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
เพื่อลดปริมาณเกลือในอาหารลงร้อยละ 20 ลดระดับความดันโลหิตตัวบนลง 10 และตัวล่าง 5 มิลลิเมตรปรอท โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคเกลือ สร้างค่านิยมกินจืดยืดชีวิต มีการใช้เครื่องวัดความเค็ม หรือ Salt meter เพื่อแสดงให้เห็นปริมาณเกลือในอาหาร และมีการปรับสูตรลดความเค็มของอาหาร พร้อมขยายผลทั่วประเทศต่อไป
พร้อมแนะนำ 8 วิธี ในการลดปริมาณเกลือที่บริโภค ได้แก่ 1.ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง 2.ลดการเติมเครื่อง ปรุงรส ไม่ควรมีขวดน้ำปลา ซีอิ้ว ซอส เกลือ บนโต๊ะอาหาร 3.ลดการกินอาหารแปรรูป
เช่น ไส้กรอก เบคอน ผัก – ผลไม้ดอง ปลาเค็ม ไข่เค็ม เต้าหู้ยี้ 4.ลดการกินอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และไม่ใส่เครื่องปรุงหมดซอง
5.ลดความถี่และปริมาณน้ำจิ้มของการกินอาหารที่มีน้ำจิ้ม 6.หลีกเลี่ยงอาหารจานด่วน 7.ลดการกินขนมกรุบกรอบ และ 8.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี ฉลากระบุโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
สำนักข่าว เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ ของคนรุ่นใหม่
05 มกราคม 2564
ผู้ชม 1235 ครั้ง