"เภสัชกรสิรวิชญ์" ไขความเชื่อ “กินยาเบาหวาน มากๆ ทำให้ไตวาย” เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์นวัตกรรม การค้าการลงทุน

บทความ

"เภสัชกร ดร.สิรวิชญ์" ไขความเชื่อ “กินยาเบาหวาน นานๆ" "ไตวาย" จริงหรือ ?

  

MED HUB NEWS - ก่อนอื่นต้องบอกว่า กอง บ.ก. เว็บไซต์เมดฮับนิวส์ดอทคอม ( MEDHUBNEWS.COM ) และ เพจ sasook รายงานว่า จะมีที่ปรึกษาเรื่องข้อมูล ความรู้

ใน ทุกสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ เพราะเรามีหน้าที่ที่ชัดเจน ในบทบาทวิชาชีพสื่อสารมวลชนสายสุขภาพ   

คอลัมน์ต่างๆ ใน เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com  ก็ให้ความรู้ทุกด้าน ไม่ว่าจะสุขภาพกาย หรือ สุขภาพใจ สุขภาวะทางเพศ วาไรตี้ ฯลฯ 

โดยคอลัมน์ "Pharmaceutical drug" ต้องบอกว่า เภสัชกรรม เป็นวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับยา ซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพ และ ชีวิตของประชาชนมาก ทางผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ได้พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับยาตลอดเวลา มีความทันสมัยอยู่เสมอ

เภสัชกร ดร.สิรวิชญ์ พันธนา เภสัชกรชำนาญการ ( ด้านเภสัชกรรมคลินิก ) กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลบึงกาฬ เขียนให้ความรู้เรื่องยาว่า

“โรคเบาหวาน” ว่า เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเป็นโรคทางพันธุกรรม หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วจำเป็นต้องได้รับการรักษาไปตลอดชีวิต  โรคเบาหวานมี 2 ชนิด คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้

เนื่องจากเบตาเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องได้รับการรักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบมาก เกิดจากการที่ตับอ่อนยังคงสร้างอินซูลินได้

แต่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และต้องได้รับการรักษาด้วยยากิน หรืออาจใช้ยาฉีดอินซูลินร่วมด้วย

โรคเบาหวาน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ดูแลตนเองจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อม ระบบประสาทต่างๆถูกทำลาย  เกิดโรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ  โรคไตวาย เป็นต้น

ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันว่าการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ใกล้เคียงค่าปกติหรืออยู่ในเกณฑ์ควบคุมจะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆจากโรคเบาหวานได้  

สำหรับการรักษาโรคเบาหวานจะมุ่งเน้นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงค่าปกติ  เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา และการรักษาโรคเบาหวาน ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มการรักษาโรคเบาหวานด้วยยา ผู้ป่วยควรเริ่มการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายเสียก่อน เมื่อไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเริ่มการรักษาด้วยยาให้ผู้ป่วย

ยารักษาโรคเบาหวานชนิดรับประทานแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1 ยากระตุ้นการหลั่งของอินซูลิน เช่น Glipizide Glibenclamide Gliclazide เป็นต้น ยากลุ่มนี้ควรรับประทานก่อนอาหารประมาณ 15-30 นาที เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ดี

2 ยาเพิ่มการออกฤทธิ์ของอินซูลิน เช่น Metformin Pioglitazone เป็นต้น ยากลุ่มนี้จะรับประทานหลังอาหาร

3 ยาที่ยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหาร เช่น Acarbose เป็นต้น  ยากลุ่มนี้ควรรับประทานพร้อมกับอาหารคำแรก เพื่อลดการดูดซึมน้ำตาลจากอาหาร และไม่นิยมใช้เป็นยาหลักในการรักษาโรคเบาหวานเนื่องจากลดระดับน้ำตาลในเลือดได้น้อย จึงใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่น

สำหรับความเชื่อที่ว่า “กินยาเบาหวานมากๆ และกินไปนานๆ จะทำให้ไตวาย” นั้นไม่เป็นความจริง การใช้ยารักษาโรคเบาหวานในขนาดที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ และเภสัชกร เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดร่วมกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม จะเป็นการป้องกันไม่ให้ “ไตวาย-ไตเสื่อม” ได้ 

ถึงแม้ว่าจะใช้ยา หลายชนิดร่วมกันเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากตามแนวทางการรักษาโรคเบาหวานนั้น แพทย์และเภสัชกรจะพิจารณาสั่งและจ่ายยาให้ผู้ป่วยทีละราย

โดยดูผลการตรวจร่างกาย ผลเลือด และข้อมูลอื่นๆประกอบ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่ปลอดภัยในขนาดที่เหมาะสมทุกครั้ง และหากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามแลปต่างๆ รวมถึงได้รับการตรวจไตเป็นระยะๆตามแผนการรักษาด้วย

ปัญหาไตวาย นอกจากมีสาเหตุจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้แล้ว  ยังอาจมีสาเหตุมาจากการใช้ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ( NSAIDs ) ได้ด้วย

เช่น Piroxicam Diclofenac Ibuprofen เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีผลต่อการทำงานของไต และเป็นพิษต่อไตเมื่อใช้ในขนาดสูง

หรือ การใช้ยากลุ่มนี้ในขนาดปกติแต่เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไตอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงครับ

ภก.ดร.สิรวิชญ์  พันธนา

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ 

Thailand Health and Wellness News  

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

05 มกราคม 2564

ผู้ชม 4920 ครั้ง

Engine by shopup.com