"กรม สบส." ใช้ “คิวอาร์โค๊ด” ตรวจสอบคลินิกจริง - เถื่อน สถานพยาบาลทุกแห่ง
"กรม สบส." ใช้ “คิวอาร์โค๊ด” ตรวจสอบคลินิกจริง - เถื่อน สถานพยาบาลทุกแห่ง
MED HUB NEWS - เว็บไซต์ เมดฮับนิวส์ดอทคอม medhubnews.com เว็บไซต์เพื่อสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ( Medical Hub : Tourism Hub ) และ เพจ sasook รายงานว่า นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.)
ระบุถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมทางการแพทย์ในไทย พบว่าว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2561 เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีคลินิกที่ขึ้นทะเบียนกับกรม สบส.เกือบ 6,000 แห่ง
ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการฉกฉวยโอกาส ลักลอบเปิดคลินิกเถื่อนให้บริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพ ร่างกาย และชีวิตของประชาชน
กรม สบส.จึงพัฒนาระบบการตรวจสอบ คลินิกเอกชนที่มีกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ รับยุคไทยแลนด์ 4.0 ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค
โดยการนำนวัตกรรม “คิวอาร์โค๊ด” (QR Code) ติดที่ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล, ใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการ และบริเวณด้านหน้าของคลินิก
เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบว่าคลินิก และผู้ดำเนินการมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยใช้สมาร์ทโฟนแสกนคิวอาร์โค๊ดซึ่งจะมีการแสดงรายละเอียดของชื่อ ที่ตั้ง ชื่อผู้ประกอบกิจการ และชื่อผู้ดำเนินการของคลินิกนั้นๆ เพียงคลิ๊กเดียวรู้ได้ทันทีว่าคลินิกไหนคลินิกแท้ คลินิกไหนเถื่อน
ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า การดำเนินการติดคิวอาร์โค๊ดที่ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการนั้น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561
หากมีการยื่นเรื่องขอใบอนุญาตฯ หรือต่ออายุใบอนุญาตฯ จะมีการพิมพ์คิวอาร์โค๊ดติดที่มุมซ้ายบนของใบอนุญาตฯฉบับใหม่ทันที
ส่วนผู้รับอนุญาตประกอบกิจการฯ และผู้ดำเนินการฯที่ใบอนุญาตฯยังไม่หมดอายุก็สามารถนำใบอนุญาตฯฉบับเดิมมาขอติดคิวอาร์โค๊ดได้ที่ กรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ได้เช่นกัน
และสำหรับสัญลักษณ์คิวอาร์โค๊ดที่ต้องติดบริเวณด้านหน้าคลินิก ทางกรม สบส.และ สสจ.จะจัดส่งให้กับคลินิกที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศ ภายในเดือนเมษายน 2561
ทั้งนี้ หากประชาชนสแกนคิวอาร์โค๊ดแล้วพบชื่อสถานพยาบาล และที่ตั้งไม่ตรง หรือแพทย์ผู้ดำเนินการเป็นคนละคนกับที่แสดงในฐานข้อมูลขอให้หลีกเลี่ยงการรับบริการจากคลินิกดังกล่าว
หากอยู่ในเขต กรุงเทพฯ ให้แจ้งมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรม สบส.ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18618 หรือทางเฟซบุ๊ก : ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. กระทรวงสาธารณสุข ในวันและเวลาราชการ
แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวเป็นคลินิกเถื่อน หรือมีการนำบุคคลอื่นมาสวมรอยให้บริการแทนแพทย์หรือไม่
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ
Thailand Health and Wellness News
( ไทยแลนด์ เฮลท์ แอนด์ เวลเนสนิวส์ )
27 พฤศจิกายน 2561
ผู้ชม 2517 ครั้ง