ชาวเมืองหลวง ป่วยภูมิแพ้กรุงเทพฯ ร้อยละ 11.5 หรือ กว่าครึ่งล้านคนมี "ปัญหาสุขภาพจิต" เผชิญกับความเครียดรอบตัว

บทความ

ชาวเมืองหลวงป่วยภูมิแพ้กรุงเทพร้อยละ 11.5 หรือ กว่าครึ่งล้านคนมี "ปัญหาสุขภาพจิต"

 

ผลสำรวจระดับชาติล่าสุด พบคนในกทม.อายุ18 ปีขึ้นไป ร้อยละ 11.5 ป่วยทางจิตเวชและมีปัญหาสุขภาพจิต คาดว่ามีประมาณ 520,000 คน  เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขณะนี้  

ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนในสังคม โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่นในกทม.ประชาชนที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์จำนวน  5.6 ล้านกว่าคน แต่สภาพความเป็นจริงคาดว่าจะมีประมาณ 10 ล้านคน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่หนาแน่น จะส่งผลต่อสุขภาพจิต

โดยเฉพาะการเผชิญกับความเครียดกับสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ  การเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวัน ผลการสำรวจกรมสุขภาพจิตครั้งล่าสุดในปี 2556 พบว่าประชาชนในกทม.อายุ 18 ปีขึ้นไป ป่วยทางจิตเวชและมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 11.5 หรือประมาณ 520,000 คน

 

ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกับกทม. จัดระบบบริการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชทุกโรคทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อน ส่วนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาเพื่อให้ประชาชนในกทม.ทุกกลุ่มวัยมีสุขภาพจิตดี และมีภูมิต้านทานปัญหาสุขภาพจิต 

มีศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ซึ่งตั้งอยู่ที่ชุมชนวัดม่วงแค เขตบางรัก เป็นหน่วยงานหลักประสานความร่วมมือสนับสนุนวิชาการความรู้ต่างๆแก่หน่วยงานเครือข่ายในกทม.และที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะการวิจัยหารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพจิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นชุมชนเมือง ที่มักไม่ค่อยมีเวลาใส่ใจ พูดคุยกับคนรอบข้างหรือเพื่อนบ้านเหมือนในชนบท 

ยุทธศาสตร์สำคัญจะเน้นสร้างความเข้มแข็งชุมชนที่มี 2,068 ชุมชน ซึ่งมีสภาพหลากหลายทั้งชุมชนแออัด  คอนโดมีเนียม บ้านจัดสรร  โดยวางแผนพัฒนาศักยภาพแกนนำภาคประชาชนในชุมชน 2 กลุ่ม คือกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข(อสส.)ของกทม.ที่มีอยู่แล้ว ต่อยอดให้เป็นอสส.เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชุมชนเช่นเดียวกับที่อสม.ทุกจังหวัด

และกลุ่มที่ 2 คือประธานชุมชนซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักพื้นที่และชุมชนดีที่สุด จะจัดอบรมให้ความรู้เป็นกรณีพิเศษ พัฒนาให้เป็นประธานชุมชนเชี่ยวชาญสุขภาพจิตชุมชนด้วย  ได้ให้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 จัดทำหลักสูตรเป็นการเฉพาะแล้ว อาจใช้เป็นต้นแบบพัฒนาสุขภาพจิตในชุมชนเมืองขนาดใหญ่ในพื้นที่อื่นๆในอนาคตได้ด้วย

ด้าน นายแพทย์ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาศูนย์ฯได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อพัฒนาเป็นเทคโนโลยีสร้างความสุขให้ผู้สูงอายุในพื้นที่กทม. ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 9 แสนกว่าคน หรือร้อยละ18 ของประชากรทั้งหมด  มากเป็นอันดับ2 รองจากวัยแรงงาน  ร้อยละ 92 ยังช่วยเหลือตนเองได้ดีไปไหนมาไหนได้ 

โดยผู้สูงอายุร้อยละ 61 เคยรู้สึกเบื่อหน่าย วิตกกังวล เครียด  มีภาวะซึมเสร้าติดต่อกันเป็นสัปดาห์ และส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 97 จะอยู่บ้าน  ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุที่มี 354 ชมรม เนื่องจากชมรมขาดกิจกรรมจูงใจ และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ

 โปรแกรมส่งเสริมความสุขที่วิจัยครั้งนี้  ออกแบบให้สอดคล้องวิถีชีวิตผู้สูงอายุชุมชนเมือง เรียกว่าเอมบีแคท ( Mindfulness-based Cognitive Behavior and Acceptance Therapy:MBCAT ) เป็นการประยุกต์การฝึกสติร่วมกับกิจกรรมการสร้างสุข 5 มิติ  มี  8 กิจกรรม

ผลการทดลองใช้ในชมรมผู้สูงอายุที่อยู่ในศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.ใน 8 พื้นที่ได้แก่ ราชปรารภ,บางซื่อ,บางเขน ,บุคคโล,วัดไผ่ตัน,ทับเจริญ,ล้อม-พิมเสน-ฟักอุดม ,และบมจ.ธนาคารนครหลวงไทย 

มีผู้สูงอายุเข้าร่วมโครงการ 235 คน ใช้เวลา 8 สัปดาห์ 8 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมงและให้ไปฝึกสติต่อที่บ้าน  จากการประเมินผลพบว่าให้ผลดี ผู้สูงอายุมีความสุขเพิ่มขึ้นชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อน

ภาพจาก GMM

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

06 พฤษภาคม 2561

ผู้ชม 1667 ครั้ง

Engine by shopup.com