"โรคธาลัสซีเมีย Thalassemia" ป้องกันได้ หากพ่อแม่วางแผน ก่อนจะมีลูก เพื่อเลี่ยงอัตราเสี่ยง "ธาลัสซีเมีย" ป้องกัน "พิการแต่กำเนิด"

บทความ

"โรคธาลัสซีเมีย Thalassemia" ป้องกันได้ หากพ่อแม่วางแผน ก่อนจะมีลูก เพื่อเลี่ยงอัตราเสี่ยง "ธาลัสซีเมีย" ป้องกัน "พิการแต่กำเนิด"

“ธาลัสซีเมีย” เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ รายงานว่า นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุถึง การป้องกันโรคธาลัสซีเมีย  ซึ่งสามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปยังลูก

โดยในประเทศไทยพบทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิดประมาณ 24,000 - 40,000 รายต่อปี ขณะที่ข้อมูลจากทั่วโลกพบทารกที่มีความพิการแต่กำเนิดกว่า 80,000,000 คน หรือร้อยละ 6 ของทารกแรกเกิดทั่วโลก จำนวน 135,000,000 คน

ทั้งนี้ ความพิการแต่กำเนิดร้อยละ 60 -70 สามารถป้องกันหรือรักษาให้หายขาดหรือดีขึ้นได้

โดยกระทรวงสาธารสุขมีนโยบายการป้องกันความพิการแต่กำเนิดที่กำหนดให้สตรีตั้งครรภ์ทุกคนได้รับการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย  เพื่อควบคุมและป้องกันการเกิดธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงของทารกในครรภ์ รวมถึงรณรงค์ให้สตรีที่จะตั้งครรภ์ได้รับสารโฟเลต 6 สัปดาห์ก่อนการตั้งครรภ์

ทั้งนี้ ได้จัดทำแผนการดูแลรักษาปัญหาเด็กพิการแต่กำเนิดของประเทศไทย ปี 2555-2560 จัดให้มีระบบจดทะเบียนเด็กพิการแต่กำเนิดใน 41 จังหวัด จำนวน  49 โรงพยาบาล 

พร้อมทั้งประสานโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขให้เพิ่มเรื่องวิธีการป้องกันการเกิดโรคธาลัสซีเมีย โดยสตรีตั้งครรภ์และสามีได้รับการตรวจคัดกรองมากกว่าร้อยละ 70 รวมถึงการพัฒนาระบบการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กล่าวว่า  โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่เกิดจากพันธุกรรมที่พบมากในประเทศไทย

โดยพบทารกแรกเกิดเป็นโรคดังกล่าวปีละประมาณ 12,125 ราย  โรคนี้ที่เกิดจากการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงลดน้อยลง

เม็ดเลือดแดงจึงมีลักษณะผิดปกติและแตกง่าย ก่อให้เกิดอาการซีด เลือดจางเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา 

แนวทางการรักษา การดูแลรักษาสุขภาพทั่วไปสำหรับสตรีตั้งครรภ์และเด็กที่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย คือ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ผาดโผน รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง อาหารที่มี “โฟเลต” สูง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงมาก

โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอาการซีดรุนแรง ต้องได้รับเลือดเป็นประจำ เนื่องจากในเลือดมีธาตุเหล็กมาก ฉะนั้นหากผู้ป่วยได้รับเลือดเป็นประจำ อาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากภาวะเหล็กเกิน        

นอกจากนี้พบว่า  สตรีตั้งครรภ์ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงและสามีเป็นพาหะด้วย  จะทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติและเสียชีวิตภายในครรภ์หรือตายหลังคลอด และสตรีตั้งครรภ์ที่มีทารกผิดปกติอยู่ในครรภ์กว่าร้อยละ 75 จะมีอาการครรภ์เป็นพิษ โดยมีอาการบวมและความดันโลหิตสูง 

สำหรับรายที่มีอาการมากทารกจะมีอาการซีดเหลืองภายในขวบปีแรก หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม ทำให้ตัวเล็กไม่สมอายุ หน้าตาผิดรูป หน้าผากใหญ่ โหนกแก้มสูง จมูกบาน และ ท้องโต เพราะตับม้ามโต  เด็กกลุ่มนี้จะป่วยบ่อยเพราะติดเชื้อง่าย บางรายเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News  

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

28 สิงหาคม 2562

ผู้ชม 4756 ครั้ง

Engine by shopup.com