"คลินิกเสริมความงาม" อิมพอร์ตแพทย์ผิดกม.สถานพยาบาลฯ เอเจนซี่ชี้นำ ผิดกม. สคบ.
"คลินิกเสริมความงาม" อิมพอร์ตแพทย์ผิดกม.สถานพยาบาลฯ เอเจนซี่ชี้นำ ผิดกม. สคบ.
ความคืบหน้า แนวปฏิบัติในการโฆษณาสถานพยาบาล เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com รายงานว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงบริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับความงามของประเทศไทย นับได้ว่าเป็นบริการที่ได้รับความนิยมจากประชาชน และมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สถานพยาบาลหลายแห่งจึงมีการแข่งขัน ทั้ง ซึ่งสถานพยาบาลบางแห่งอาจจะอ้างว่ามีการให้บริการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจของผู้รับบริการ
อย่างไรก็ดี กรม สบส.ขอเน้นย้ำว่าการนำแพทย์จากต่างประเทศมาให้บริการในสถานพยาบาลของไทย ไม่ว่าจะให้บริการประจำหรือไม่ประจำก็ตาม จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541
โดยต้องแจ้งขออนุญาตกับกรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้ง แพทย์จากต่างประเทศต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาก่อนจึงจะมีสิทธิ์ให้บริการในสถานพยาบาลของไทย
แต่ปัจจุบันจากข้อมูลของแพทยสภาพบว่ายังไม่มีแพทย์จากต่างประเทศรายใดได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา
ดังนั้น หากพบว่าสถานพยาบาลแห่งใดลักลอบใช้แพทย์จากต่างประเทศมาเป็นผู้ให้บริการ ทั้งการรักษาพยาบาล หรือเสริมความงาม จะมีความผิดตามกฎหมายฐานใช้หมอเถื่อน
ขณะเดียวกัน เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com ระบุว่า การตีความโฆษณา ตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 การชักชวน ชี้นำ คนไทยไปใช้บริการศัลยกรรมกับหมอต่างประเทศ
โดยใช้คำต่างๆ อาทิ หมอเกาหลีอันดับหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญเปลี่ยนรูปหน้าโดยหมอเกาหลี นักกฎหมายตีความต้องระวังการโฆษณาเข้าข่ายผิด พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2541 ด้านการโฆษณาสินค้า และ บริการ
ซึ่งวางหลักการสำคัญเรื่องคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค 5 ประการ ได้แก่ 1 สิทธิที่จะได้รับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ถูกต้อง 2 สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการ
3 สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ 4 สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา 5 สิทธิที่จะได้รับการชดเชยความเสียหาย
หลักการทั้ง 5 ประการนี้ แม้จะไม่มีบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายได้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคทุกกรณี แม้ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า บทลงโทษของสถานพยาบาลที่มีการนำหมอเถื่อนมาให้บริการนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน
คือ 1. แพทย์ผู้ดำเนินการจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐานปล่อยให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่แพทย์มาดำเนินการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 2. หมอเถื่อนมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ได้กำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มคลินิก ตรวจสอบเฝ้าระวังสถานพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครฯ ที่มีกว่า 6,000 แห่งอย่างต่อเนื่อง
และหากประชาชนพบการให้บริการโดยแพทย์จากต่างประเทศขอให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นหมอเถื่อน และหลีกเลี่ยงไม่รับบริการ
สามารถแจ้งมาที่กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18822 หรือ 18618 หรือทางเฟสบุ๊ค : สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์, มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน และ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส. กระทรวงสาธารณสุข ในวันและเวลาราชการ
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
17 มีนาคม 2562
ผู้ชม 1765 ครั้ง