“ปิดโรงงานยาสูบ” ไม่ใช่เลิกกิจการ แต่เพิ่มอำนาจ "การยาสูบแห่งประเทศไทย"
“ปิดโรงงานยาสูบ” ไม่ใช่เลิกกิจการ แต่เพิ่มอำนาจ "การยาสูบแห่งประเทศไทย"
: “ปิดโรงงานยาสูบ” ไม่ใช่เลิกกิจการ
: เพิ่มอำนาจ "การยาสูบแห่งประเทศไทย" ค้าขายคล่องตัว
: แปลงโฉม การยาสูบแห่งประเทศไทย “ยสท.” เป็นนิติบุคคลแล้ว
อ่านชัดๆ “ปิดโรงงานยาสูบ” ไม่ใช่เลิกกิจการ หรือ เลิกขายบุหรี่ แต่เป็นการปรับโครงสร้างให้ค้าขายดีขึ้น จากเดิมมีข้อจำกัด ออกกฎหมายใหม่ 45 มาตรา เพิ่มอำนาจ เสริมศักยภาพให้ "โรงงานยาสูบเดิม"
พาดหัวข่าว “ปิดโรงงานยาสูบ” “ยุติตำนานโรงงานยาสูบ” บางคนในโลกออนไลน์ถึงกับดีใจ แชร์ข่าว ก่อนเขียนข้อความกำกับว่า “ดีใจจัง จะได้มีพวกสิงห์อมควันน้อยๆ หน่อย”
อ่านแบบนี้แล้วก็รู้สึกว่าวาทกรรม หรือ มายาคติ “คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแค่ปีละ 8 บรรทัด” ยังคงหลอกหลอนผู้คนในแวดวงการศึกษา และอุตสาหกรรมหนังสือ แม้ว่าจะไม่เชื่อตามนั้น แต่ทุกวันนี้พวกนักแชร์ข่าว จากเว็บไซต์ข่าวปลอม ยังคงทำหน้าที่กระจายข่าวได้ดี
คนจำนวนมาก เข้าใจในลักษณะเดียวกันคือ “ลดปริมาณพวกสิงห์อมควันให้น้อยลง” หรือ การปิดโรงงานยาสูบทำให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่ไปเลย
เดี๋ยวก่อน อย่าเข้าใจผิด เพราะ “การปิดโรงงานยาสูบ” ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปิดกิจการ หรือ เลิกผลิต เลิกขายยาสูบ ทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น แต่เป็นการดำเนินการเดินหน้าสร้างศักยภาพโรงงานยาสูบเดิมได้ขายสินค้าให้ดีขึ้นนั่นเอง
รวมทั้ง “การปิดโรงงานยาสูบ” ในครั้งนี้จะทำให้สามารถผลิตสินค้าเกี่ยวกับยาสูบ และ สินค้าเทคโนโลยีออกมาเพิ่มเติม หารายได้มากขึ้น ซึ่งประชาชนต้องตามให้ทันว่าการใช้กฎหมายใหม่ 45 มาตรา เพื่อปิดโรงงานเดิม และ เปิดโรงงานใหม่ในกิจการเดียวกัน แถมยังเพิ่มกลไกการบริหารจัดการให้ขายยาสูบได้กำไรมากขึ้น
โรงงานยาสูบ ไม่มีวันปิด มีแต่จะพัฒนาให้หาเงิน หากำไรมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ หากมองในแง่พาณิชย์ ไม่รวมด้านสาธารณสุข
เดิมที โรงงานยาสูบของ กระทรวงการคลัง เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ แต่ไม่เป็นนิติบุคคล มีการระบุว่า ทำให้มีข้อจำกัดบางประการในการดำเนินกิจการ ประกอบกับการผลิตบุหรี่ซิกาแรตเป็นกิจการผูกขาดของรัฐ สมควรดำเนินการโดยนิติบุคคล ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะ
และกำหนดให้มีคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทยซึ่งแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่และมีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการอันจะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพในเชิงอุตสาหกรรมและขจัดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ
รวมทั้งส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนา การปรับปรุงและควบคุมมาตรฐานการผลิต โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมจึงจำเป็นต้องตรากฎหมายใหม่
หลักใหญ่ใจความคือ การยกเลิกโรงงานยาสูบ โดยให้เปลี่ยนเป็น การยาสูบแห่งประเทศไทย ใช้ชื่อย่อว่า “ยสท.” และใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Tobacco Authority of Thailand” เรียกโดยย่อว่า “TOAT”
โลโก้ โรงงานยาสูบ โฉมใหม่ เป็นนิติบุคคล เรียกว่า การยาสูบแห่งประเทศไทย ใช้ชื่อย่อว่า “ยสท.”
ขณะนี้ โรงงานยาสูบเดิม เป็นนิติบุคคลแล้ว สามารถประกอบอุตสาหกรรมและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยาสูบ ใบยา หรือผลิตภัณฑ์จากพืชอื่นทั้งในและนอกราชอาณาจักร รับจ้างผลิตยาสูบเพื่อส่งออกไปจำหน่ายนอกราชอาณาจักรดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือ เครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม หรือธุรกิจที่เกี่ยงกับใบยาสูบ
ส่งเสริมให้มีการศึกษา วิจัย พัฒนา และปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานการผลิตยาสูบ ใบยาหรือผลิตภัณฑ์จากพืชอื่นและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาสูบ ใบยา หรือผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น
ขณะเดียวกัน กฎหมายยังเพิ่มอำนาจให้โรงงานยาสูบเดิม สามารถให้กู้หรือให้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินเพื่อส่งเสริมกิจการใบยาอุตสาหกรรมยาสูบ หรือ ผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น และออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อใช้ในการลงทุน รวมทั้งจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่อง
เห็นไหมล่ะ......อำนาจมากมายมหาศาล ตามที่ โรงงานยาสูบเดิม เคยได้เรียกร้องก่อนหน้านี้ ถึงการเข้าไปตรวจสอบ และควบคุมราคาขายปลีก และไม่ให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายบุหรี่ต่างประเทศ ทำการลดราคาบุหรี่ลงจากราคาเดิมที่เคยจำหน่ายก่อน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้
รวมทั้งป้องกันการทุ่มตลาด พร้อมเรียกร้องให้กรมสรรพสามิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการที่เข้มงวดด้านการปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย
รวมถึงข้อเสนอให้ยกเลิกให้โรงงานยาสูบต้องเสียภาษีเงินได้แทนผู้ประกอบการค้า หรือตรากฎหมายให้บริษัทบุหรี่ต่างประเทศเสียภาษีเงินได้แทนผู้ประกอบการค้า
นี่คือ การเพิ่มอำนาจให้ธุรกิจยาสูบเดินหน้าเพิ่มศักยภาพให้โรงงานยาสูบเดิม ขายของดีๆ กำไรงามๆ นั่นเอง
ทุกวันนี้ เป็นเรื่องผลประโยชน์ไปหมดแล้ว ทั้งเรื่องเงิน กำไร มองข้ามปัญหาสุขภาพประชาชน แต่ไม่มองเรื่องการวิจัยเพื่อลดปัญหาสุขภาพประชาชน เคยมีการนำเงินไปวิจัยสร้างทางเลือกให้ผู้สูบบุหรี่ได้ลดความเสี่ยงต่อโรค คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไหม
ทุกวันนี้การจัดเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เพื่ออะไร ? เพื่อใคร ? เป็นการอ้างว่าเพื่อควบคุมคนสูบบุหรี่ จริงหรือไม่ หรือเก็บเพื่อต้องการเงินภาษีเข้ารัฐ และ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.)
ที่ผ่านมา เราทุ่มเงินเยอะมาก ในการทำงานรณรงค์งดการสูบบุหรี่ สร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่อัตราการสูบลดลงน้อยมาก
ดังนั้น “การปิดโรงงานยาสูบ” ไม่ใช่การปิดกิจการ แต่เป็นการปรับโครงสร้างองค์กร ให้ค้าขายดีขึ้น
แต่เคยมองเรื่อง สุขภาพ สาธารณสุข ของคนสูบบุหรี่ในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 กว่าล้านคนไหม
แม้ว่าธุรกิจยาสูบจะสามารถทำกำไรได้ตามการแข่งขันการค้า แต่การทำเพื่อสังคม คิดค้นว่าสินค้าของคุณ ที่ทำคนตายมหาศาลจากโรคมะเร็งมีอะไรทดแทน หรือ แม้แต่การทำลายสุขภาพให้ลดน้อยลงกว่าเดิม ภายใต้นวัตกรรมใหม่ๆ เคยมีนโยบายนี้บ้างหรือเปล่า !
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
05 มกราคม 2564
ผู้ชม 4844 ครั้ง