"ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า" แฉกาแฟลดความอ้วนยี่ห้อ Brazil Patent slimming Coffee ทำให้ชีวิตเปลี่ยน กลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช

บทความ

"ผู้ป่วยซึมเศร้า" แฉกาแฟลดความอ้วนยี่ห้อ Brazil Patent slimming ทำให้ป่วยจิตเวช

 : เผยผลสำรวจสุขภาพปี 2557 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปกินยาลดความอ้วนร้อยละ 1.5 

 : คาดทั่วประเทศมีประมาณ 790,000 คน กลุ่มอายุ 15-29 ปี กินสูงสุด

 : เตือนหากมีสารอันตรายโดยเฉพาะไซบูทรามีนหรือเฟนเทอมีนผสม อาจทำให้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรงขึ้น 

จากการแพร่ระบาดของอาหารเสริมลดน้ำหนักทำให้มีทั้งผู้เสียชีวิต และ ป่วยทางจิตจำนวนมากโดยเฉพาะตนทำงานออฟฟิศที่ชอบดูแลตัวเอง และ มีคนทักว่าอ้วนจึงหันไปกินยาลดความอ้วนจนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช

 เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สถานการณ์การใช้ยาลดความอ้วนของคนไทยอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง ซึ่งไม่เพียงก่อปัญหาผลกระทบทางกายของผู้ที่กินอย่างเดียวยังทำให้เกิดปัญหาทางจิตเวชด้วย

โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า(depression) ซึ่งเป็นภัยเงียบในสังคมไทย มีคนไทยป่วยประมาณ 1.5 ล้านคนแต่ยังมีกว่าร้อยละ 40 ที่ยังไม่เข้ารักษาเนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่าไม่ใช่โรค แต่เป็นลักษณะนิสัยของผู้ที่เข้าข่ายเรียบร้อยจึงมองข้ามปัญหานี้ไป

ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยอายุ 15ปีขึ้นไปทั่วประเทศโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่ามีผู้กินยาลดความอ้วนร้อยละ 1.5 คาดว่าประมาณ 790,000 คน พบสูงที่สุดในผู้หญิงอายุ 15-29 ปี ร้อยละ 5.3

ในยาลดความอ้วนที่มีส่วนผสมของสารอันตรายคือไซบูทรามีน ( sibutramine ) และ เฟนเทอมีน ( phentermine ) สารชนิดนี้ทำให้มีอาการทางประสาทอ่อนๆและจะมีมากขึ้นหากคนที่กินมีปัญหาที่เรียกว่า "โยโย่" คือมีพฤติกรรมกินอาหารเพิ่มมากขึ้นหลังจากหยุดกินยาลดน้ำหนัก ซึ่งร่างกายต้องการสารอาหารเข้าไปทดแทนส่วนที่หายไป  เนื่องจากในขณะที่กินยาลดนั้นร่างกายไม่ได้รับสารอาหาร 

เมื่อหยุดยาร่างกายจึงหลั่งสารเข้าไปกระตุ้นสมองให้มีความอยากอาหารมากขึ้นเป็น 2 เท่า  ทำให้กินมากขึ้นและความอ้วนมากกว่าปกติ  บางคนอาจมากกว่าเดิมถึง 2 เท่าตัว  

อีกทั้ง เมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จะทำให้เกิดความเครียดซ้ำเติมหนักขึ้นไปอีก อาจรู้สึกไม่อยากออกไปเจอใคร แยกตัวเอง และหันกลับไปกินยาตัวเดิมซ้ำอีก อาจจะเกิดการดื้อยากินแล้วไม่ได้ผล ต้องกินยาที่แรงขึ้น เสี่ยงอันตรายมากขึ้น   

สำหรับสารไซบูทรามีน  และสารเฟนเทอมีน  ที่ทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้นั้น เกิดจากฤทธิ์ยาจะไปกดสมองส่วนความอยากอาหาร  ทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและไม่อยากกินอาหาร  น้ำหนักตัวจึงลดลง

นอกจากนี้ยายังมีผลทำให้เพิ่มระดับของสารสื่อประสาทสำคัญ 3 ตัว ซึ่งต้องทำงานอย่างสมดุลกัน คือสารซีโรโทนิน (serotonin) ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ความโกรธ ความหิว การรับรู้และความเจ็บปวด สารนอร์อิฟิเนฟฟรีน (norepinephrine) ซึ่งจะควบคุมการตื่นตัว

กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท และควบคุมการแสดงออกเวลาที่รู้สึกกลัว และสารโดปามีน (dopamine) จะควบคุมสมาธิ อารมณ์  ความรู้สึกคล้ายกัน 

โดยปกติร่างกายของเราจะหลั่งสารออกมาในอัตราส่วนที่เท่าๆ กันหรือสมดุลกัน  แต่หากร่างกายมีการหลั่งสารชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่ากัน ก็จะทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้ 

และหากสารนี้ทำงานมากเกินปกติ อาจมีผลทำให้เกิดอาการหูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอนได้เช่นกัน  นำมาสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดในชีวิต เช่นการฆ่าตัวตายเป็นต้น

ด้านนายแพทย์ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานีกล่าวว่า ไซบูทรามีน และเฟนเทอร์มีน เป็นกลุ่มยาที่ยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทในสมอง

จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ผู้ที่ใช้ยาเฟนเทอร์มีน มีอัตราเป็นซึมเศร้าร้อยละ 2 ซึ่งคนที่กินยาเฟนเทอร์มีนนี้จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่กินยาไซบูทรามีนประมาณ 1.2 เท่า ส่วนยาไซบรูทรามีน มีอัตราเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 0.8 และเมื่อมีอาการซึมเศร้าจะมีความสัมพันธ์กับความคิดทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 3.6

นอกจากนี้ยังพบว่า ยังมีการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressant)  ผิดประเภท นำมาใช้ลดความอ้วน ที่นิยมใช้ คือ ยาฟลูออกซิทิน (Fluoxetine) ซึ่งศูนย์ลดน้ำหนักหลายแห่งมักนำมาใช้

โดยอาศัยผลข้างเคียงของตัวยาคือทำให้เบื่ออาหาร โดยเฉพาะใช้ในขนาดสูง ปัญหาสำคัญเมื่อคนทั่วไปเอายาชนิดนี้มากินในขนาดสูงมากๆ อาจทำให้เกิดอาการทางจิตแบบคึกคัก ครื้นเครงหรือร่าเริงเกินเหตุแบบแมเนีย (mania) ได้ ประการสำคัญยาตัวนี้หากกินร่วมกับยาไซบูทรามีนและยาเฟนเทอมีน จะทำให้มีโอกาสเกิดอาการทางจิตสูงกว่าปกติหลายเท่าตัวด้วย

“ขอย้ำเตือนให้ประชาชนที่มีปัญหาอ้วน น้ำหนักตัวมาก ขอให้ใช้วิธีการลดหรือควบคุมน้ำหนักตัวโดยการออกกำลังกายไม่ว่าจะออกกลางแจ้งหรือในฟิตเนส และการควบคุมอาหารการกิน จะดีที่สุดและให้ผลดีต่อสุขภาพ 

การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขคือ เอ็นดอร์ฟีน (Endorphin) ช่วยลดความเครียดลงได้  และช่วยให้นอนหลับดี  การควบคุมน้ำหนักตัวด้วยการออกกำลังกายนี้จะต้องใช้เวลาอย่างต่อเนื่อง  คือ ออกสัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที  และการลดน้ำหนักที่ปลอดภัย ไม่ควรเกินสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม”นายแพทย์ประภาสกล่าว

หากประชาชนที่อ้วน ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดน้ำหนักที่ถูกวิธี  และหันมาพึ่งยาลดความอ้วนเป็นทางออก คาดว่า จะส่งผลให้สถานการณ์ของโรคซึมเศร้าของไทยบานปลาย รุนแรงขึ้นในอนาคต แนวโน้มผู้ป่วยมีอายุน้อยลง

และการใช้ยาลดความอ้วนจะเป็นสาเหตุใหม่ของการเกิดโรคซึมเศร้า ซึ่งจากเดิมที่พบในผู้ที่มีความเครียด และจากกรรมพันธุ์เป็นต้นเหตุ โดยหากมีพ่อหรือแม่เป็นโรคซึมเศร้า  ลูกจะมีโอกาสเกิดได้ถึงร้อยละ 10-25

สำหรับผู้ป่วยเคสตัวอย่างรักษาที่รพ.ศรีธัญญา เล่าว่า เริ่มกินกาแฟลดความอ้วนปี 2553 ชื่อว่า กาแฟลดน้ำหนักดำสำหรับคนดื้อ ( ลดยาก ) หรือ Brazil Patent slimming Coffee

ตอนแรกกินแล้วมีแรงทำงาน มีสมาธิใจจดจ่อในงาน ถ้าไม่หิว ไม่กินข้าวเลย แต่คอแห้ง ขับถ่ายยาก

จากนั้น ปี 2554-2555 เริ่มรู้สึกวูบๆ และเหนื่อยง่ายก็หยุดกิน มีอาการเหม่อ แต่ยังเป็นไม่มากไม่รู้ว่าเป็นอะไร ไปหาหมอตามสิทธิประกันสังคม เขาส่งไปพบแพทย์ตรวจโรคนี้โน้นไปเรื่อยๆ

ประมาณว่าเป็น ไทรอยด์ เบาหวาน กินยาอยู่นานพอสมควร อาการไม่ดีขึ้น มีอาการคือตกใจง่าย ขวัญอ่อน เป็นหลายอาทิตย์ก็ไม่หาย เหมือนจิตตก วันหนึ่งไปทำงาน สงสัยทำไมหิวง่าย หิวแล้วมือสั่น ปีนั้นโรคซึมเศร้ายังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เราค้นข้อมูลอาการที่ เป็นจากกูเกิลเอง พบว่าเหมือนกับ โรคซึมเศร้า

ดังนั้นจึงนั่งแท็กซี่ไปหาหมอที่ รพ.ศรีธัญญา หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้และจ่ายยามาพอกินแล้วอาการหายหมด นอนหลับสบาย ไม่เครียด ไม่กังวล ดีใจมาก รู้สึกร่าเริงกว่าเดิม

จากที่เคยขี้เกียจ กลายเป็นทำงาน มีประสิทธิภาพ พออาการดีขึ้น ปี 2555 ลดยาและปรับยาเอง ไม่ไปพบหมอตามนัด กลายเป็นว่าต้องกลับมาตั้งต้นใหม่เรื่อยๆ

วันหนึ่งขณะไปพบหมอที่ รพ.ศรีธัญญา มีความคิดแว่บขึ้นมาว่า ทำไมเราต้องวนเวียนมาที่นี่ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทำไมไม่มีชีวิตเหมือนวัยรุ่นคนอื่น เลยเข้ามาศึกษาโรคนี้จริงจัง

โดยอาชีพทำให้รู้จักจิตแพทย์เยอะ ก็เอาตำรามาศึกษา อยากรักษาตัวให้หายขาด ตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้น่าจะลดปริมาณยาลงได้และปรับจนไม่ต้องกินยา ซึ่งมีความเป็นไปได้ ช่วงที่เรากินยาแล้วหาย อาการดี ก็ไปช่วยเหลือคนอื่นคือ มีกลุ่มปิดของคนเป็นโรคซึมเศร้ามาพูดคุยกันในเฟสบุ๊ค บางคนไม่กล้าไปหาหมอหรือรักษาเพราะอาย กลัว เพื่อนเห็นถุงยาว่าเป็นของโรงพยาบาลไหน บ้างก็มาปรึกษาด้วย อาการแย่แล้ว

"ผมคิดว่าคนไม่เป็นโรคนี้ไม่ควรให้คำปรึกษาใคร บางคนให้คำปรึกษา แบบผิดๆ เช่น ให้ไปเดินเล่น เปิดสมอง ปลูกต้นไม้ มันไม่ใช่แนวทาง การรักษาที่ถูกต้องๆ คือ ต้องไปหาหมอกินยาก่อน แล้วค่อยมาผ่อน คลาย เราก็แนะนำไปบ้างว่าไปพบหมอที่ไหนได้บ้าง ปัจจุบันไปหาหมออยู่เป็นประจำ คุณหมอ บอกว่าให้มาตามนัด อย่าปรับยาเอง โรคนี้อยู่ที่วินัยในการกินยา"

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News  

 

 

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

เครดิตภาพจาก GMM,  SOS skate ซึมซ่าส์  , เพจเพื่อนคนป่วยใจ 

06 มกราคม 2562

ผู้ชม 1889 ครั้ง

Engine by shopup.com