"บุหรี่ไฟฟ้า" อันตรายในวงแถลงข่าววันงดสูบบุหรี่โลกไทย หมอประกิตยันคนเลิกบุหรี่ 4.75 ล้านคน
"บุหรี่ไฟฟ้า" อันตรายในวงแถลงข่าววันงดสูบบุหรี่โลกไทย หมอประกิตยันคนเลิกบุหรี่ 4.75 ล้านคน
"บุหรี่ไฟฟ้า" อันตรายในวงแถลงข่าววันงดสูบบุหรี่โลกไทย
หมอประกิตยันคนเลิกบุหรี่ 4.75 ล้านคน
การสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะบุหรี่ชนิดไหนก็ไม่ดีต่อสุขภาพ จึงเกิดการปลุกกระแสให้ทั่วโลกหาทางเลือกใหม่ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย แม้ไทยจะรณรงค์มากว่า 10 ปี แถลงข่าวแบบนี้ทุกครั้ง เปลี่ยนรัฐมนตรี อธิบดีกรมควบคุมโรคมาหลายคน
ขณะที่หมอประกิตร่วมทุกปี แต่สถานการณ์การสูบบุหรี่ยังไม่เกิดผลงานที่ชัดเจน ขณะที่คนไทยหันมาพึ่ง “ยาสูบ-ยาเส้น” แทนแล้ว
อีกไม่กี่วันจะถึงวันงดสูบบุหรี่โลก หรือ World No Tobacco Day ในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี โดยในปี 2561 นี WHO ให้คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกว่า Tobacco Break Heart หรือ บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ
นอกจากนี้ WHO ให้รัฐบาล หน่วยงานสุขภาพ แต่ละประเทศเพิ่มความตระหนักในการดำเนินการที่เป็นไปได้ และใช้มาตรการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจที่มาจากการสูบบุหรี่
ในส่วนของเมืองไทย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกให้รัฐภาคีสมาชิกทั่วโลกร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ถึงอันตรายของบุหรี่ที่มีผลต่อสุขภาพ
จากรายงานผลการสำรวจการบริโภคยาสูบของประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป ล่าสุดในปี 2560 ที่ผ่านมา พบจำนวนผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน คิดเป็นอัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 19.1 ของประชากรกลุ่มนี้
เมื่อพิจารณาแนวโน้มการบริโภคยาสูบของประชากรไทยโดยรวม ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ( พ.ศ.2549-2560 ) พบว่า อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องอย่างช้า ๆ
เป้าหมายสำคัญในการทำงานจึงมุ่งเน้นกลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี เพื่อลดนักสูบหน้าใหม่ เพราะการไม่สูบบุหรี่ จะลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้ดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบในทุกมิติ รวมถึงมิติด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นมิติสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคม และสถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่อย่างแท้จริง
การรณรงค์ “รักษ์หัวใจ ห่างไกลบุหรี่” เป็นการรณรงค์ป้องกันควบคุมการเสพผลิตภัณฑ์ยาสูบ ช่วยเหลือผู้ที่เสพติดให้เลิกสูบบุหรี่ และปกป้องประชาชนจากการได้รับควันบุหรี่ เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับสารพิษจากบุหรี่ และเป็นการปกป้องดูแลหัวใจและหลอดเลือดด้วย
โดยประสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทั้งเชิงนโยบาย และการขับเคลื่อนให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงโทษ พิษภัย และผลกระทบจากการสูบบุหรี่ และการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ได้อย่างถูกต้อง
นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า วันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้องค์การอนามัยโลก
กำหนดคำขวัญในการรณรงค์ว่า “รักษ์หัวใจ ห่างไกลบุหรี่” เน้นย้ำให้เห็นถึงผลกระทบของบุหรี่กับโรคหัวใจวาย และหลอดเลือดสมองอุดตัน เพื่อกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มความพยายามในการยุติผลกระทบจาก พิษภัยของบุหรี่
โดยเฉพาะการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการลองสูบบุหรี่ เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560
คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าการสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน ก่อให้เกิดโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
มีคนไทยกว่า 60,000 คน เสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ หลายคนทุพพลภาพ ไม่สามารถหายใจ ออกกำลังกาย เดินหรือมีชีวิตได้อย่างปกติ ปัจจุบันเยาวชน 25 ล้านคนทั่วโลกหันมาเริ่มสูบบุหรี่
อีกประมาณ 13 ล้านคนสูบบุหรี่แบบไร้ควัน มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจเนื่องจากการสูบบุหรี่มากกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยรักษาหัวใจ
โดยหลังจากเลิกสูบบุหรี่ 1 ปี จะลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวายลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับผู้ที่สูบบุหรี่
พลตำรวจตรี นายแพทย์เกษม รัตนสุมาวงศ์ เลขาธิการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองปีละ 100,000 คน คิดเป็นร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของสาเหตุการเสียชีวิตในแต่ละปี
ผู้ที่มีอายุระหว่าง 30 - 45 ปีที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 4 เท่า หรือเกือบครึ่งหนึ่งของคนวัยหนุ่มสาวถึงกลางคนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ผู้ที่เป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง ( Passive or Second Hand Smoker ) มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดพอๆ ผู้ที่สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เพียง 1 – 2 มวนต่อวันก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้ บุหรี่ไร้ควัน หรือ E cigarette มีสารนิโคตินซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน ผู้ที่เคยสูบบุหรี่ และสามารถเลิกบุหรี่ได้สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ถึงร้อยละ 30
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดมีคนไทยที่เคยสูบบุหรี่ แต่เลิกสูบได้แล้ว 4.75 ล้านคน จึงขอเชิญชวนผู้สูบบุหรี่ให้ลงมือเลิกในวันงดสูบบุหรี่โลก โดยเริ่มต้นจากการไม่สูบบุหรี่ในบ้าน
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
23 ธันวาคม 2565
ผู้ชม 7150 ครั้ง