อนาคต “ตลาดกลางสมุนไพรไทย” ใต้ร่มเงาแจ็ค หม่า ไทยจะ “ได้” หรือ “เสีย” ?
อนาคต “ตลาดกลางสมุนไพรไทย” ใต้ร่มเงาแจ็ค หม่า ไทยจะ “ได้” หรือ “เสีย” ?
MED HUB NEWS - กลายเป็นประเด็นคำถามใหญ่ เมื่อโครงการ “ตลาดกลางสมุนไพรไทย” ซึ่งมีกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพ และมีคณะทำงานเป็นหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขจะกำลังจัดแจงแต่งตัว เตรียมพาผู้ประกอบการด้านสมุนไพรไทยไปค้าขายบนเว็บไซต์ของเจ้าพ่อออนไลน์
อย่าง “แจ็ค หม่า” เจ้าของเว็บอาลีบาบา.คอม ผู้สร้างเซอร์ไพร์สให้คนไทยมาหมาดๆด้วยการขายทุเรียนไทยผ่านเว็บไซต์ของเขาจำนวน 8,000 ลูกภายใน 1 นาที ในราคาลูกละ 1,000 บาท
ดังนั้น เมื่อมีข่าวว่า โครงการดลางกลางสมุนไพรมีแนวคิดที่จะพาสมุนไพรไทยไปโกอินเตอร์และโกยเงินผ่านเว็บของเสี่ยหม่าบ้าง จึงทำให้บรรดาผู้ประกอบการสมุนไพรไทยส่วนหนึ่งเนื้อเต้น เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง
ขณะที่ผู้ประกอบการอีกส่วนยังคงวิตกกังวล เพราะเกรงประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยทั้งการถูกลอกเลียนแบบสินค้าและการฉกฉวยเอาสมุนไพรไทยไปตีทะเบียนเป็นของชาติอื่นและอีกสารพันปัญหา
ที่อาจจะตามมาอีกมากมายภายใต้ร่มเงาของนักธุรกิจสัญชาติมังกรรายนี้ที่ใครๆก็รู้ว่า เขาไม่ใช่แค่พ่อค้าธรรมดาๆคนหนึ่ง
“ขณะนี้เราอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการด้านสมุนไพรเพื่อทำฐานข้อมูลกลาง แปลเป็นภาษาต่างๆ และนำมาเรียบเรียงก่อนที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ของอาลีบาบาในอนาคตเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ
จากเดิมที่ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 280.000 บาทต่อ 18 เพจต่อราย และมองว่านี่น่าจะอีกเป็นช่องทางที่สดใส ช่วยให้สมุนไพรไทยแจ้งเกิดในตลาดโลกได้ เพราะองค์ประกอบหลายอย่างเอื้ออำนวย โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งของอาลีบาบานั้นถูกมาก ซึ่งจะช่วยเซฟคอร์สให้ผู้ประกอบการไทยได้มาก
โดยเราจะเริ่มทำตลาดในกลุ่มสมุนไพรที่เป็น Products Champion 4 ตัวก่อน ซึ่งประกอบด้วย ขมิ้นชัน ไพล ฟ้าทะลายโจร และใบบัวบก
ก่อนหน้านี้ในส่วนของตลาดออนไลน์เราก็ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนจัดทำเว็บไซต์กลางไปบ้างแล้ว ระหว่างที่รอการอนุมัติเรื่องของสถานที่ในการจัดสร้างตลาดกลางสมุนไพรซึ่งเป็นตลาดออฟไลน์
เราเสนอไปที่ห้างสรรพสินค้าเซียร์ รังสิต เพราะมองว่า มีความพร้อมในเรื่องการบริหารจัดการในด้านสถานที่และค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงจนเกินไป แต่ท้ายที่สุดคงอยู่ที่คณะกรรมการฯจะพิจารณา เรามีหน้าที่เพียงเสนอไปเท่านั้น
เพราะเราไม่ใช่หน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าภาพ แต่อะไรที่เราทำได้ก่อนระหว่างที่รอความชัดเจนในหลายๆเรื่องเราก็ทำ”
นายสมนึก สุชัยธนาวนิช ผู้อำนวยการกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานฯเปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการนี้" กับ เมดฮับ นิวส์”
และเมื่อถามถึงความพร้อมในทุกๆด้านของโครงการตลาดกลางสมุนไพรไทย โดยเฉพาะเมื่อมีแนวคิดที่จะนำผู้ประกอบการไทยไปแจ้งเกิดในช่องทางออนไลน์ของแจ็ค หม่า ซึ่งหลายคนมองว่า อาจจะเป็นทั้งโอกาสและความสุ่มเสี่ยง หากเตรียมการมาไม่ดีพอ
โดยเฉพาะมาตรการในการป้องกันไม่ให้สมุนไพรถูกปล้นไปจดลิขสิทธิ์เป็นของประเทศอื่น รวมทั้งปัญหาการถูกลอกเลียนแบบสินค้า ซึ่งเป็นปัญหาในลำดับต้นๆที่บรรดาผู้ประกอบการด้านสมุนไพรไทยต่างกังวลใจ
เรื่องนี้นายสมนึก ยอมรับว่าอย่างตรงไปตรงมาว่า ด้วยความไม่ต่อเนื่องของการทำงานตามสภาพการเมืองที่ไม่นิ่งและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ประกอบกับองคาพยพในการทำงานหลายส่วนที่ยังขาดความพร้อมและความรู้ความเข้าใจในบริบทของการทำงานที่จะนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศได้นั้นยังไม่สามารถทำได้จริงทั้งหมด
และยังไม่มีการดึงศักยภาพของแต่ละหน่วยงานออกมาใช้อย่างเต็มที่ จึงทำให้องค์ประกอบสำคัญๆของโครงการตลาดกลางสมุนไพรไทยยังไม่มีความพร้อมอย่างแท้จริงที่จะไปผงาดบนเวทีการค้าระดับโลกได้อย่างแข็งแรง
“ที่ผ่านมาเราทุ่มเททำงานกันอย่างเต็มที่ และมองเห็นปัญหาหลายย่าง ซึ่งส่วนตัวผมมองว่า เรื่องของการบริหารจัดการนั้นสำคัญมากกว่าเรื่องงบประมาณเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะคณะทำงานที่จะต้องเข้าใจถึงบริบทของการทำงานอย่างแท้จริงเสียก่อน
โดยเฉพาะเรื่องของอุปสงค์และอุปทานของตลาด เพราะเท่าที่ได้สัมผัส คณะทำงานฯ ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ต่อเนื่องเกี่ยวกับเนื้องานที่รับผิดชอบ แต่ละหน่วยงานยังขาดข้อมูลที่จำเป็นหลายส่วนที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และยังขาดการทำงานที่สอดประสานไปในทิศทางเดียวกันและส่งเสริมซึ่งกันและกัน
รวมทั้งปัญหาใหญ่อย่างแหล่งเพาะปลูกสมุนไพรก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับโครงการฯ เช่นเดียวกับความช่วยเหลือที่ควรจะเอื้ออำนวยให้กับผู้ประกอบการในหลายๆเรื่อง เพื่อส่งเสริมให้เขาเดินไปข้างหน้าได้ก็กลับมองข้ามกันไป ”นายสมนึกกล่าว
ทว่า ท่ามกลางข้อเท็จจริงของความไม่พร้อมในหลายด้านของโครงการดังกล่าวที่จะต้องดำเนินต่อไปตามนโยบายรัฐบาล ทำให้ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรไทยส่วนหนึ่งได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
นางสุมารัช รัตนกิจ ผู้บริหารบริษัท นิวเซนส์โปรดักส์ จำกัด บอกว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี แต่อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยืนได้อย่างมั่นคงจริงๆ
โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา และการขอ อย.ที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ประกอบการด้านสมุนไพรไทย และอาจทำให้ผู้ประกอบการไทยสูญเสียโอกาสเช่นเดียวกับกรณีสมุนไพรเปล้าน้อยซึ่งญี่ปุ่นนำไปจดลิขสิทธิ์ทั้งที่เป็นสมุนไพรไทย
“ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันนะว่า ทำไมเรื่องการจดทรัพย์สินทางปัญญากับการขออย.จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเหลือเกินสำหรับผู้ประกอบการสมุนไพรไทย กว่าจะได้เลือดตาแทบกระเด็น ทั้งที่ภาครัฐก็รู้ดีว่า สิ่งเหล่านี้เป็นใบเบิกทางสำหรับผู้ประกอบการสมุนไพรไทย
หากหน่วยงานภาครัฐยังไม่แก้ไขเรื่องนี้จะทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเกิดยาก ทั้งที่เราทำกันมานาน และเป็นของดีๆที่มีคุณค่าทั้งนั้น ซึ่งต่างชาติเขาก็อยากได้ การกีดกันกันแบบนี้จะทำให้คนไทยสูญเสียโอกาสดีๆไปอย่างน่าเสียดาย ควรจะแก้ปัญหาจุดนี้ก่อนผลักดันโครงการฯให้ไปขายกันบนเว็บไซต์ของอาลีบาบา
พี่มองว่า สุ่มเสี่ยงต่อการถูกก็อปปี้จากผู้ประกอบการจีน และเสี่ยงต่อการที่สมุนไพรไทยจะถูกนำไปตีทะเบียนเป็นของประเทศอื่นเช่นเดียวกับกรณีของ”สมุนไพรเปล้าน้อย”ที่ไทยต้องเสียค่าโง่ให้ญี่ปุ่น ทั้งที่เป็นสมุนไพรสัญชาติไทยแท้ แต่เรากีดกันกันเองในประเทศ
สุดท้ายต่างชาติมาคว้าไป และผลิตกลับมาขายประเทศไทยในราคาแพงทั้งที่เป็นสมุนไพรบ้ายเรา มันช้ำนะแบบนี้ ดังนั้น กรณีของตลาดกลางสมุนไพรไทยที่จะไปขายบนอาลีบาบาพี่เกรงว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย ถ้าเรายังไม่แก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการไทยให้ถูกจุดเสียก่อน”
ด้านนางสุนิษา เวฎสุวรรณ ผู้บริหารสมุนไพรบ้านดาว บอกว่า หากโครงการนี้สามารถทำได้สำเร็จจริงในรัฐบาลนี้ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสมุนไพรไทยลืมตาอ้าปากได้ เพราะการค้าในปัจจุบันจะหวังพึ่งพาเพียงช่องทางออฟไลน์คงไม่ประสพความสำเร็จ
แต่จะต้องทำในช่องทางออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย ดังนั้น การนำสมุนไพรไทยไปจำหน่ายผ่านช่องทางเว็บไซต์อาลีบาบาจึงถือเป็นอีกหนึ่งความหวังของผู้ประกอบการไทย แต่ต้องทำอย่างรอบคอบเพราะ กังวลเรื่องปัญหาการลอกเลียนแบบสินค้าและสมุนไพรไทย ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว
“คณะทำงานโครงการฯต้องมีมาตรการที่รัดกุมในเรื่องนี้ด้วย เพราะเรื่องการลอกเลียนแบบสินค้าและการนำlสมุนไพรไทยไปจดลิขสิทธิ์เป็นของประเทศอื่นเป็นเรื่องที่คนไทยยอมรับไม่ได้ มันจะได้ไม่คุ้มเสีย แนวคิดของโครงการนี้ดีและเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการสมุนไพรไทยมาก แต่ก็อยากฝากให้คณะทำงานนำเรื่องนี้กลับไปคิดเป็นการบ้านด้วยเช่นกัน” นางสุนิษา กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ไม่ว่า โครงการตลาดกลางสมุนไพรไทย จะต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพียงไรในการฟูมฟักโครงการให้เปรี้ยงปร้างตามที่มุ่งหวังท่ามกลางข้อเท็จจริงของ”ความไม่พร้อมแทบทุกด้าน”
แต่จำเป็นจะต้องก้าวต่อไปตามนโยบายของรัฐบาล ก็คงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องตอบคำถามกับสังคมว่า การทำงานท่ามกลางรอยรั่วมากมายแต่ไปฝากอนาคตไว้กับนักธุรกิจอย่าง แจ็ค หม่า เช่นนี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์หรือเสียผลประโยชน์กันแน่
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
25 ธันวาคม 2561
ผู้ชม 3130 ครั้ง