สุดแสนทรมาน ระวัง "ภาวะไหล่ติด" ปวดหัวไหล่ขณะเคลื่อนไหว สัญญาณเตือน เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การค้าการลงทุนด้านสุขภาพ

บทความ

สุดแสนทรมาน ระวัง "ภาวะไหล่ติด" ปวดหัวไหล่ขณะเคลื่อนไหว สัญญาณเตือน

 

MED HUB NEWS แพทย์เตือนปวดหัวไหล่ขณะเคลื่อนไหว ยกแขนไขว้มือด้านหลังลำบากเป็นสัญญาณเสี่ยง "ภาวะไหล่ติด" สุดทรมาน เผยกลุ่มเสี่ยง อาการ วิธีการรักษา

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com รายงานว่า นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึง อาการปวดไหล่ว่า เป็นปัญหาที่พบได้มากและบ่อยขึ้น

โดยอาจเกิดเป็นครั้งคราวหรือเรื้อรัง หากมีอาการปวดไหล่ระหว่างเอื้อมหยิบของจากที่สูง เอื้อมมือไปรูดซิบด้านหลังเสื้อไม่ได้ ล้วงกระเป๋ากางเกงด้านหลังลำบาก ยกแขนเพื่อสวมเสื้อผ่านทางศีรษะไม่ได้ หรือ ยกแขนขึ้นสระผมตัวเองลำบาก ฯลฯ

เป็นสัญญาณอันตรายเสี่ยงภาวะไหล่ติด ซึ่งสาเหตุเกิดจากเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่อักเสบ เกิดการบวมและหนาตัวขึ้น เมื่อยกแขน หรือไขว้มือด้านหลังจะทำให้เส้นเอ็นถูกยืดและกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวด

จนผู้ป่วยไม่กล้ายกแขนขึ้นเหนือศีรษะ หรือเคลื่อนไหวหัวไหล่ ซึ่งยิ่งหลีกเลี่ยงจะยิ่งทำให้เอ็นรอบข้อไหล่หนาตัวมากขึ้น องศาการเคลื่อนไหวจะน้อยลงและหากไม่ใช้แขนข้างที่เป็นไหล่ติดเป็นเวลานานกล้ามเนื้อแขนข้างนั้นจะฝ่อลีบลง

ภาวะไหล่ติดมักพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 ถึง 60 ปี โดยเกิดกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุที่หัวไหล่ แขนหัก ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดที่หัวไหล่

รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวานซึ่งมีแนวโน้มเกิดอาการไหล่ติดมากเป็น 2 เท่าของคนปกติ

 

นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวถึง อาการของภาวะไหล่ติด แบ่งเป็น 3 ระยะ

คือ ระยะที่ 1 มีอาการเจ็บหรือปวดขณะเคลื่อนไหวหัวไหล่ และปวดมากขึ้นเมื่อพยายามยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ แต่ยังไม่รู้สึกถึงภาวะข้อไหล่ติด โดยเป็นมากในเวลากลางคืนและเวลาล้มตัวนอน

ระยะที่ 2 อาการปวดจะค่อยๆ ลดลง ข้อไหล่ติดแข็ง การเคลื่อนไหวของหัวไหล่ลำบากรู้สึกตึงรั้งกล้ามเนื้อรอบๆหัวไหล่จนถึงต้นคอ 

ระยะที่ 3 การเคลื่อนไหวของข้อไหล่น้อยลง จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่เมื่อถึงระยะที่ไหล่ติดมากๆ ร่างกายจะเริ่มฟื้นฟูอาการไหล่ติดจะค่อยๆลดลง โดยปกติอาการไหล่ติดสามารถหายได้เองภายใน 2 – 3 ปี

แต่สร้างความลำบากต่อการใช้ชีวิตและทำให้รู้สึกทรมานจากอาการปวด จึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้อาการหายไปได้เอง การรักษาจะรักษาตามอาการ

โดยระยะที่ 1 จะให้ทานยาหรือฉีดยา ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ใช้วิธีกายภาพบำบัดภายใต้คำแนะนำของนักกายภาพบำบัด

ทั้งนี้ หากอาการรุนแรงและรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผลนานกว่า 6 เดือน แพทย์อาจจะรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการรักษาภาวะไหล่ติดมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ข้อไหล่ขยับได้มากขึ้น ลดอาการเจ็บปวด ลดการยึดของข้อไหล่ และผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์สุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

 

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา

03 ธันวาคม 2561

ผู้ชม 4411 ครั้ง

Engine by shopup.com