"กรมสุขภาพจิต" ชี้สมาธิช่วยเพิ่มระดับ "สารสื่อประสาท" ลดเครียดได้ผลดี
"กรมสุขภาพจิต" ชี้สมาธิช่วยเพิ่มระดับ "สารสื่อประสาท" ลดเครียดได้ผลดี
การใช้ชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของโซเซียลมีเดียที่เข้าถึงตัวบุคคล มีข่าวสารมากมายเปลี่ยนแปลงเร็วตลอดเวลาทําให้สมองทํางานโดยคิดอย่างไม่สิ้นสุด
เว็บไซต์เมดฮับนิวส์ดอทคอม และ เพจ sasook รายงานว่า หลายคนอาจแก้ปัญหาไม่ตก ทั้งเรื่องในอดีต และอนาคต ทำให้มีความเครียด ความอดทนน้อยลง อารมณ์หงุดหงิด อาจทำให้สุขภาพแย่ลงตามไปด้วย
จึงแนะนำ การฝึกทำสมาธิ ( Tranquil Meditation ) เพราะการทำสมาธิจะช่วยผ่อนคลายความเครียดต่างๆที่มากระทบ และเป็นวิธีที่ทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก
การฝึกสมาธินี้ยังเป็นบุญกุศลในทางพุทธศาสนา ทำให้จิตสะอาดผ่องใส เพียงแค่จัดเวลาวันละ 10-30 นาที ไม่ถึงร้อยละ 2 ของเวลาทั้งวัน หากทำเป็นประจำทุกวันจะได้ผลดีมาก
เนื่องจากการทำสมาธิ จะช่วยเพิ่มระดับของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) ในสมอง ยับยั้งการทำงานของสมองส่วนกลางส่วนที่ทำหน้าที่สร้างอารมณ์ด้านลบ และขณะที่ทำสมาธิจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดและการเผาผลาญอาหารในร่างกายทำงานดีขึ้น ทำให้กระฉับกระเฉง ไม่เหนื่อยง่าย อารมณ์แจ่มใส
หากทำสมาธิติดต่อกันนาน 8 สัปดาห์ ส่งผลดีต่อสุขภาพสมอง สมองไบรท์ขึ้น ช่วยให้ความจำดีขึ้น มีจิตใจเข้มแข็ง สามารถเผชิญปัญหาได้ทุกรูปแบบ จัดการกับอารมณ์ต่างๆได้ดีขึ้น
โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่คนเราจะมีสิ่งมากระทบจิตใจได้บ่อย เช่น มีคลิปวีดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ และแชร์กันต่อๆมา เมื่อดูแล้วเกิดอารมณ์ทางบวกและทางลบได้ง่าย สมาธิจะช่วยขจัดความขัดแย้งในจิตใจได้อย่างดี
ด้าน นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า การทำสมาธิมี 3 ขั้นตอนง่ายๆ ขั้นตอนที่ 1 คือการฝึกจับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าให้รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกให้รู้ว่าหายใจออก ไม่ต้องนับหรือใช้ถ้อยคำใดๆ ขั้นตอนที่ 2 ระหว่างฝึกจับลมหายใจ
หากมีความคิดใดๆผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ ขอให้เพียงแค่รู้ตัวและปล่อยให้ความคิดนั้นผ่านเลยไป ให้หันความสนใจมาที่ลมหายใจเท่านั้น ข้อสำคัญคืออย่าสั่งตัวเองให้หยุดคิด เพราะจะทำให้จิตว้าวุ่น ไม่สงบ
และขั้นตอนที่ 3 คือการฝึกจัดการกับความง่วง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อจิตสงบแล้ว โดยให้ยืดตัวตรง หายใจเข้าออกแรงๆสัก 5-6 ครั้ง หรือใช้วิธีจินตนาการหลอดไฟที่สว่างจ้าสักครู่หนึ่ง
เมื่อหายง่วงแล้วให้กลับไปตามรู้ลมหายใจให้ต่อเนื่องต่อไป ควรทำสมาธิหลังตื่นนอนใหม่ๆ เพราะร่างกายยังสดชื่นอยู่ ส่วนช่วงก่อนนอน ลองฝึกรู้ลมหายใจจนหลับไปจะทำให้นอนหลับได้ลึก และผ่อนคลายได้ดี
ขณะนี้รพ.จิตเวชนครพนมฯได้ให้ผู้ใช้บริการทุกคนฝึกสมาธิ สติ ก่อนรับบริการตรวจรักษา และฝึกผู้ป่วยในที่มีอาการดีขึ้นแล้ว เพื่อสามารถดูแลตัวเองครบถ้วน
ขณะที่ วิคเทอร์ - รามายะ นายแบบ และผู้ใช้ธรรมะบำบัดจิตใจ ซึ่งหนุ่มคนนี้เคยประสบปัญหาชีวิตอย่างร้ายแรง แต่ได้ใช้ธรรมะเข้ามาช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์
เจ้าตัวบอกว่า ตนเองใช้ธรรมะบำบัดมานานแล้ว ไม่ว่าจะด้วยปัญหาใดๆก็ตาม จะเรื่องครอบครัว ความรัก การงาน การเงิน มิตรภาพ หรือสาเหตุอื่นๆ
ถ้าเรารู้ต้นเหตุของความทุกข์ เราจะดับทุกข์นั้นได้ง่ายขึ้น หากมีหลายปัญหา ก็ค่อยๆแก้ไปทีละจุด เพราะท้ายสุดการที่เรายังมีลมหายใจ นั้นแปลว่าชีวิตเราสามารถอยู่ได้
สภาพจิตใจอาจอยู่เหมือนตายทั้งเป็น แต่เราต้องให้เวลากับตัวเองบ้าง ให้เวลากับปัญหาที่มันจะค่อยๆคลี่คลาย ปัญหาทุกอย่าง ย่อมมีทางออก เหมือนวิธีการที่ตนได้ใช้
เวลามีใครปรึกษาตนแนะนำเรื่องธรรมมะ หลังจากรักษาทางการแพทย์แล้วเราแนะนำพาผู้ป่วยไปที่วัด เข้าโบสถ์ หรือ ศาสนสถานตามที่ผู้ป่วยนับถือ เพราะเป็นพึ่งทางใจที่ปฏิบัติแล้วเห้นผล
โดยเฉพาะในยามที่จิตใจอ่อนแอ ลองปล่อยให้ผู้ป่วยสนทนากับพระ นักบวช หรือเพื่อนทางธรรมของเขา รวมทั้งการนั่งสมาธิ เราสามารถทำได้สะดวกสบาย ในห้อง หรือ บ้าน ก็สามารถทำได้
รวมทั้งเปิดยูทูปฟังธรรมมะไปด้วยก็ได้ความสบายใจอีก เพราะบางครั้งผมก็ใช้วิธีนี้ สะดวกกว่ามาก” วิคเทอร์ กล่าว
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
29 สิงหาคม 2566
ผู้ชม 2961 ครั้ง