แค่ติดกระดุมเม็ดแรกผิด คนไทยก็เสี่ยงตายด้วยโรคมะเร็ง หัวใจ หลอดเลือด คาดในอนาคตนอนกองล้นรพ. เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การค้าการลงทุนด้านสุขภาพ

บทความ

แค่ติดกระดุมเม็ดแรกผิด คนไทยเสี่ยงตายด้วยมะเร็ง หัวใจ คาดอนาคตป่วยล้นรพ.

 

หลังจาก เว็บไซต์เมดฮับนิวส์ดอทคอม และ เพจ sasook นำเสนอสกู๊ป กระตุ้นเตือนแนวทางการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่มวนในไทยเพราะมองว่าการรณรงค์ที่ผ่านมามีข้อบกพร่องหลายจุด หากยังปล่อยให้ใช้แนวทางเดิมปริมาณคนสูบบุหรี่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน

วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2561 ทั่วทุกมุมโลกได้มีการรณรงค์ในแนวทางที่แตกต่างกันออกไป โดยพบว่าการลดอันตรายจากควันบุหรี่ที่ไม่มีการเผาไหม้ทำให้ไม่มีควัน ลดสารพิษก่อโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด

แนวทางนี้ได้รับการยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ อังกฤษ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ซึ่งสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเสริมมาตรการรณรงค์เลิกบุหรี่แบบเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

การศึกษา เก็บข้อมูล เรื่องของสุขภาพ “ทำไมการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในไทยประสบความล้มเหลว” ก็ยิ่งทำให้รู้ว่า หน่วยงานของไทย แค่ติดกระดุมเม็ดแรกก็ผิดแล้ว

ดังนั้นจึงพยายามหาแนวทางต่างๆ มานำเสนอเพื่อลดปริมาณคนสูบบุหรี่ให้น้อยลง โดยติดตามความคืบหน้าการศึกษาวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า โดยอ้างอิงจากสถาบันที่เชื่อถือได้ และ หาต้นตองานวิจัยจริงๆ

แต่ก็จะเน้นย้ำทุกครั้งว่า “ผู้สูบบุหรี่” หากอยากมีสุขภาพดี  วิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันอันตรายจากโรคภัยต่างๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ คือ ให้เลิกบุหรี่ไปเลย  และ ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ คือ ไม่ริเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่ต้น ซึ่งในกลุ่มหลังนี้มีหลายๆ หน่วยงานควบคุมอยู่แล้ว

ดังนั้นเราจึงมาเน้น “กลุ่มผู้สูบบุหรี่” เป็นสำคัญ ที่มีจำนวนกว่า 10 ล้านคน เราจะทำอย่างไรเพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถป้องกันอันตรายจากโรคภัยต่างๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่

การรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ไปเลยเป็นเรื่องง่าย คนที่มีปากก็สามารถพูดได้ “เลิกบุหรี่ เลิกยาก แต่เลิกได้” “หักดิบไปเลย” “ภัยของบุหรี่จะเกิดโรคร้ายต่างๆนะ ตายอย่างทรมาน” ฯ ล ฯ

หรือ การสร้างกระแส การจัดงานอีเว้นต์ของบรรดาแพทย์เกษียณที่ยังขยัน  แค่วันนี้วันเดียว

แนวทางการรณรงค์แบบนี้ เดินมาผิดทางแน่นอน เพราะหากได้ผลจริงในช่วง  10 ปี สสส.คงไม่ร่ำรวยขนาดนี้ มีเงินจ้างหมอแพงๆ มีการดึงนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ไปเป็นประชาสัมพันธ์จำนวนมาก ให้เงินเดือนเยอะๆ

แล้วประชาสัมพันธ์ก็ไม่เหมือนของกระทรวงสาธารณสุขที่เขียนข่าว ถ่ายภาพ ส่งนักข่าวเอง เพราะมีเงินจ้างให้เอกชน หรือ ใช้คอนเนคชั่นลงข่าวแจก ทำให้ประชาชนหลายๆ คนมองว่าทำไมข่าวสารเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า มีสื่อนำเสนอน้อยมาก

ไม่ว่าผลการศึกษาจะออกมาแบบไหน ก็น่าจะลงไปตามนั้นบ้าง ไม่ใช่ว่าอดีตลูกน้องเป็นใหญ่เป็นเป็นโตที่ สสส.ก็ไม่ลงข่าวอีกด้านเลย  

เพราะบางผลการศึกษาวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าก็มีทั้งสองด้าน ยังถกเถียงกันอยู่เลย เอางานวิจัยมาลงบ้างเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนอีกด้าน

เรานำเสนอข่าวสารต่างๆ เพราะทำตามหน้าที่ ตามสายข่าวที่จำเป็นต้องเสนอ แล้วบางเว็บไซต์ข่าว มีข่าวเรื่องบุหรี่ แต่โลโก้โฆษณาของ สสส.เต็มพื้นที่ คนอ่านข่าวคงจะเชื่อข่าวสารเหล่านั้นกันหรอก

ที่ผ่านมาเรานำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ที่เชื่อว่าไม่ก่อให้เกิดอันตรายจนเป็นโรคร้ายแรง แต่เราก็จะเน้นในกลุ่มผู้สูบบุหรี่เท่านั้น ไม่ได้เชิญชวนให้คนที่ยังไม่สูบบุหรี่มาสูบ เนื่องจากคนรักสุขภาพต้องอยู่ไกลๆ บุหรี่ ไม่ว่าจะบุหรี่มวน หรือ บุหรี่ไฟฟ้า อย่าเข้ามาใกล้เด็ดขาด

แต่ขณะเดียวกัน  “กลุ่มผู้สูบบุหรี่”  กว่า 10 ล้านคน คุณจะทิ้งพวกเขาหรือ ? อย่ามองว่าเขาเป็นคนไม่ดี น่ารังเกียจ เพราะต้องช่วยกันหาทางออก

การรณรงค์ผ่านมาหลายปีแล้ว ยังจะเอาแนวทางนี้อีกหรือ ? ถ้าจำนวนคนสูบบุหรี่ไม่ลดลง และตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ในปีพ.ศ. 2568 ประเทศไทยจะมีผู้สูบบุหรี่กว่า 11.7 ล้านคน หรือประมาณ 20.3% ของประชากรไทย ก็ยิ่งต้องหาทางเลือกให้เขา

ที่ผ่านมาบรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย เมื่อมีการทำศึกษาวิจัย และออกผลิตภัณฑ์ทางเลือกขึ้นมาก็มีประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศไปกำหนดนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเลย แม้กระทั่งสถาบันมะเร็งของอังกฤษก็เปิดหน้าสนับสนุนเต็มที่

เพราะเขาศึกษาดีแล้วว่า ในเมื่อคุณเลิกไม่ได้ ( กลุ่มผู้สูบบุหรี่ )  เราก็จะผลิตสิ่งที่คุณติดมาทดแทนให้ หากคุณเสพติด ทั้งพฤติกรรมการสูบ และนิโคติน เราจะผลิตสิ่งทดแทนคล้ายกัน แต่ต้องไม่มีอันตราย หรือ เสี่ยงน้อย  หรือ เป็นการลดความเสี่ยงการก่อโรคให้คุณใช้เดี๋ยวนี้ เพราะหากปล่อยให้รณรงค์แบบนี้ไปเรื่อยๆ คนก็จะตายเรื่อยๆ  ตามระยะเวลาที่คุณเพิกเฉย

ดังนั้น การลดอันตรายจากควันบุหรี่ ( Tobacco Harm Reduction )  จึงมีการนำมาใช้ เป็นการนำส่งนิโคตินเข้าสู่ร่างกายด้วยอุปกรณ์ หรือ ผลิตภัณฑ์นิโคตินทดแทน ที่ไม่มีการเผาไหม้ทำให้ไม่มีควัน สารพิษก็จะลดลง

หาก “กลุ่มผู้สูบบุหรี่”  กว่า 10 ล้านคน ได้รับผลิตภัณฑ์ทดแทน ในเวลานี้ เชื่อว่าอีก 10 – 20 ปี คนเหล่านี้ก็ไม่เป็นโรคร้าย แต่ในทางตรงกันข้าม หากยังคงเพิกเฉย คนไทย 10 ล้านคน ไปนอนกองกันในโรงพยาบาล มันจะคุ้มค่ากันไหม

บางครั้งการมองเรื่องการลดอันตรายจากบุหรี่ แม้ว่าจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ หากมองด้านสุขภาพในระยะยาวถือว่าคุ้มมาก

ทั้งนี้ “กลุ่มผู้สูบบุหรี่” เรียกร้องสิทธิการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทดแทน เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งน่าเห็นใจ เพราะขนาดตัวเขาเองยังรักสุขภาพตัวเองเลย แต่พวกนักรณรงค์คนเก่ง แต่ขยัน กลับตอกย้ำ “ไปเลิกให้ได้ เราไม่ให้สิทธินั้นแก่คุณ”

แม้ว่าจะปฏิเสธอย่างไร เราก็พยายามที่จะช่วย “กลุ่มผู้สูบบุหรี่”  กว่า 10 ล้านคนต่อไป เพราะยาสูบเป็นอันตรายที่สามารถป้องกัน และหลีกเลี่ยงได้ เมื่อโลกหมุนไปทุกวัน นักวิทยาศาสตร์คิดค้นทุกวัน เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ทดแทนจะสามารถเกิดขึ้นได้ในรูปแบบต่างๆ หรือ ใกล้เคียงกัน

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราจะทำต่อไป เพื่อเป็นการรณรงค์ และ ใช้ข้อมูลที่ได้รับมาจากการศึกษาที่ทำให้ทราบว่า “บุหรี่” เป็นปัญหาต่อสุขภาพเพียงส่วนนึงเท่านั้น

เพราะความจริงต้องรณรงค์การหยุดบริโภคยาสูบ ยาเส้น ควบคุมดูแล บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด ปัจจุบันนี้ยาเส้นมีขายทุกร้านโชห่วย ตามตรอกซอกซอย ซื้อง่าย ขายคล่อง ราคาถูก 10 บาท 20 บาท ก็ซื้อได้แล้ว

แถมใส่ซองบรรจุขายราวกับเป็นสินค้าโอท็อป ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าไม่เป็นอันตราย เพราะที่ผ่านมาสร้างความน่ากลัวโยนให้บุหรี่หมด ทั้งงบประมาณ การประชาสัมพันธ์สูญเงินไปมหาศาล สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานที่ชี้วัดว่าหน่วยงานรณรงค์ของไทยบริหารจัดการ "ล้มเหลว" อย่างต่อเนือง 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เคยกล่าวว่า "อัตราภาษีที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับบุหรี่โรงงาน ทำให้บุหรี่ยาเส้นมีราคาถูกมาก ประชาชนเข้าใจผิดว่ารัฐบาลเก็บภาษียาเส้นต่ำเพราะอันตรายน้อยกว่า

และที่ผ่านมาการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เน้นแต่พิษภัยที่ผลิตจากโรงงาน การพิมพ์ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ยาเส้นทำกันน้อย เนื่องจากโรงงานขนาดเล็กๆ ไม่ได้ทำตามกฎหมาย และยังไม่มีการกวดขันเรื่องนี้"

ถ้อยคำดังกล่าว เป็นการรับสารภาพว่าทำไมคนสูบบุหรี่จึงไม่ลดลง เพราะนี่คือปัญหาสุขภาพอย่างแท้จริง ที่ต้องจัดการในระยะยาว การให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับความอันตรายของยาเส้นจะส่งผลดีกับการรณรงค์มากกว่าการจัดงานมอบรางวัล หรือ การนำเอาดารามาโชว์ตัว นักวิชาการบรรยาย

หรือ การสร้างกระแส จัดอีเว้นต์ เสวนา ถ่ายภาพสังคม สร้างภาพแค่เพียงวันเดียว ในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม เท่านั้น พอหมดวันนี้ก็เลิก ปิดจ็อบ !    

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News  

 

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

04 ธันวาคม 2561

ผู้ชม 2265 ครั้ง

Engine by shopup.com