"ลูกก้าวร้าว" รังแกทำร้ายคนอื่น เป็น "โรคทางพฤติกรรม" ที่ต้องรีบแก้ไขด่วน
"ลูกก้าวร้าว" รังแกทำร้ายคนอื่น เป็น "โรคทางพฤติกรรม" ที่ต้องรีบแก้ไขด่วน
: "ลูกก้าวร้าว" รังแกทำร้ายคนอื่น อย่ามองว่า "เด็กที่มีความกล้าตามปกติ"
: ชี้อาจเป็น "โรคทางพฤติกรรม" ที่ต้องรีบแก้ไขด่วน
ซึ่งจัดเป็นโรคทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งของเด็กเรียกว่า โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว ( conduct disorder ) ต้องได้รับการกล่อมเกลาบำบัดรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยให้ดีขึ้น
แต่ที่ผ่านมาพ่อแม่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าความก้าวร้าวเป็นการพัฒนาความกล้าแสดงออกของเด็กปกติทั่วๆไป
โรคนี้หากปล่อยไปเรื่อยๆ เมื่อเด็กโตขึ้นกว่าร้อยละ 40 อาจทำให้เป็นนักเลงอันธพาลได้ และนำมาสู่ปัญหาอื่นๆตามมา เช่นเกิดความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาการเรียน ปัญหายาเสพติด และพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร
ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2559 ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ13-17 ปีที่มีประมาณ 4 ล้านกว่าคน พบเป็นโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าวร้อยละ 3.8 คาดว่ามีประมาณ 1. 5 แสนคนทั่วประเทศ
ส่วนใหญ่เป็นชาย สาเหตุที่ทำให้เด็กก้าวร้าวมีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานของเด็กที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก
หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เช่นเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก โรคซึมเศร้า และสมองพิการ หรือมาจากสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมซึ่งพบว่าเด็กที่ดูหนัง เล่นเกมที่มีเนื้อหาต่อสู้รุนแรงบ่อยๆ จะมีผลให้เด็กมีจิตใจฮึกเหิม อยากเลียนแบบ แต่ปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดก็คือครอบครัวและการเลี้ยงดู
การเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวมี 7 รูปแบบ ได้แก่ 1.เลี้ยงแบบทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ดูแล 2. ใช้วิธีลงโทษเด็กรุนแรง 3. เลี้ยงแบบตามใจเด็ก เพราะกลัวเด็กไม่รัก
4. ครอบครัวมีการทะเลาะวิวาท ด่าทอ ตบตีกันให้เด็กเห็นบ่อยๆ 5. ชอบแหย่เด็กหรือยั่วยุอารมณ์ให้เด็กโมโห 6.การเลี้ยงดูเด็กที่ขาดการจัดระเบียบวินัยความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน และ 7. การให้ท้ายเด็กเมื่อทำผิด
แพทย์หญิงกุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า พฤติกรรมก้าวร้าวเช่นการโต้เถียงผู้ใหญ่พบในเด็กทั่วไปได้
เมื่อโตขึ้นพฤติกรรมจะลดลงเรื่อยๆ แต่หากเด็กมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้จะเข้าข่ายว่ามีพฤติกรรมเกเรก้าวร้าวรุนแรง ได้แก่ ทำร้ายคนอื่น ทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายหรือทรมานสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ฉ้อโกงหรือขโมย ละเมิดกฎอย่างรุนแรงเช่นหนีออกจากบ้าน หนีโรงเรียน ซึ่งในเด็กผู้ชายมักเป็นในช่วงอายุ 10-12 ปี ผู้หญิงจะเป็นในช่วงอายุ 14-16 ปี การแก้ไขและป้องกันปัญหาเด็กก้าวร้าว จะต้องเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก
หากพฤติกรรมเด็กยังไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ในระยะแรก
ซึ่งมีความจำเป็นมาก เพราะจะช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และง่ายกว่ามาแก้ไขพฤติกรรมเมื่อโตเป็นวัยรุ่น หรือมีปัญหาเป็นคดีความแล้ว
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
ลิ้งค์ข่าว : https://medhubnews.com/ดูบทความ-21039-ลูกก้าวร้าวรังแกทำร้ายคนอื่นเป็นโรคทางพฤติกรรม
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com
16 มกราคม 2562
ผู้ชม 405073 ครั้ง