"เด็กไทย" ป่วยโรคสมาธิสั้น 437,136 คน หากไม่รักษาตั้งแต่ยังเด็ก โตไปเสี่ยงติดยา
"เด็กไทย" ป่วยโรคสมาธิสั้น 437,136 คน หากไม่รักษาตั้งแต่ยังเด็ก โตไปเสี่ยงติดยา
MED HUB NEWS - กรมสุขภาพจิต เร่งเพิ่มการเข้าถึงบริการเด็กป่วยโรคสมาธิสั้นทั่วประเทศ เว็บไซต์เมดฮับนิวส์ดอทคอม MEDHUBNEWS.COM และ เพจ sasook รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต
ให้สัมภาษณ์ถึงการพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวชทั่วประเทศให้ได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ สามารถอยู่ในครอบครัว ชุมชน และสังคมได้
ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ การเข้าถึงบริการของเด็กที่ป่วยเป็น โรคสมาธิสั้น ( Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD ) ซึ่งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ และเด็กสามารถเรียน ทำงาน หากตรวจพบตั้งแต่ยังเด็กๆ และรักษาอย่างถูกต้อง
เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีระดับไอคิวปกติ การเจริญเติบโตก็ปกติเหมือนเด็กทั่วไป แต่ต่างกันที่พฤติกรรม จะมีอาการซุกซนมาก อยู่ไม่นิ่ง สมาธิไม่ดี พ่อแม่ผู้ปกครองมักเข้าใจว่าเป็นเด็กซุกซนธรรมดา ไม่ใช่เด็กป่วยจึงไม่พาเข้ารักษา
โดยพบเด็กไทยมีอัตราป่วยโรคนี้ร้อยละ 5.4 คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 437,136 คน ในรอบ 6 เดือนปีงบประมาณ 2561 นี้ เข้าถึงบริการแล้วร้อยละ 12.49 ได้มอบหมายให้รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จ.สมุทรปราการ สถาบันราชานุกูล และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคจิตเวชในเด็ก เป็นหน่วยงานหลัก เร่งพัฒนาระบบและแนวทางการดูแล
ตลอดทั้งระบบการ ส่งรักษาต่อในรายที่รุนแรง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ได้มากที่สุดและเพิ่มการหายของเด็กโรคนี้มากขึ้น ประการสำคัญจะเป็นการป้องกันปัญหาสังคมจากเด็กกลุ่มนี้ที่โตขึ้นและไม่ได้รับการดูแลรักษา เช่น ก้าวร้าวรุนแรง ความรุนแรงทางสังคม เด็กแว้น เสี่ยงติดสารเสพติดได้สูง
ด้านแพทย์หญิงนพวรรณ ศรีวงค์พานิช ผู้อำนวยการ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าวว่า “เด็กสมาธิสั้นที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ใช้ปิงปอง 3 สี คือ 1. สีขาว หมายถึง กลุ่มซนปกติ แต่รอคอยไม่ได้ 2. สีเขียวอ่อน หมายถึง กลุ่มที่ซนเล็กน้อย รอคอยไม่ได้
3 สีเขียว หมายถึง กลุ่มซนชนิดเสี่ยง คือ ซนมาก อยู่ไม่นิ่ง รอคอยไม่ได้ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้สามารถดูแลที่บ้าน ที่โรงเรียนเพื่อปรับแก้พฤติกรรมให้ดีขึ้น
โดยให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคแก่ผู้ปกครองและครู ตลอดคำแนะนำการเลี้ยงดูเชิงบวก การจัดการพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ตามวัย
ส่วนกลุ่มเด็กที่ป่วยแล้ว จะใช้สีปิงปอง 4 สี จากอาการน้อยไปอาการรุนแรง ต้องส่งพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาเพื่อควบคุมอาการร่วม และฟื้นฟูด้านจิตสังคมร่วมด้วย
ได้แก่ 1. สีเหลือง หมายถึง กลุ่มที่มีอาการสมาธิสั้น แต่ยังไม่มีปัญหาการเรียน 2. สีส้ม หมายถึงกลุ่มที่มีปัญหาการเรียนร่วมด้วย จะเพิ่มการให้คำปรึกษาในการจัดการปัญหาพฤติกรรมเฉพาะ ให้ความช่วยเหลือเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
3 สีแดง หมายถึง กลุ่มที่มีปัญหาทั้งการเรียนและมีปัญหาด้านอารมณ์เป็นหลัก ต้องมีการรักษาโรคที่โรงพยาบาลต่อเนื่อง และ 4. สีเทา หมายถึง กลุ่มที่มีปัญหาความก้าวร้าวรุนแรง เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองและผู้อื่นด้วย จัดอยู่ระดับที่รุนแรงที่สุด ต้องได้รับการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
การจัดระบบการดูแลเด็กสมาธิสั้นแบบปิงปอง 7 สีนี้ จะทำให้ผู้ปกครอง ครู และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถจัดระบบดูแลเด็กในเบื้องต้นและต่อเนื่อง หากเด็กมีอาการรุนแรงเกินขีดความสามารถจะมีระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลจิตเวชเฉพาะทาง
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
09 มกราคม 2562
ผู้ชม 2559 ครั้ง