หวั่นประชาชน วิตกกังวล หวาดผวา ซึมเศร้า "ทีมจิตแพทย์" พร้อมช่วยเหลือดูแลจิตใจภาวะวิกฤติฉุกเฉิน เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข

บทความ

หวั่นประชาชน วิตกกังวล หวาดผวา ซึมเศร้า "จิตแพทย์" พร้อมช่วยเหลือดูแลจิตใจ

 

 

หวั่นประชาชน วิตกกังวล หวาดผวา ซึมเศร้า

"ทีมจิตแพทย์" พร้อมช่วยเหลือดูแลจิตใจภาวะวิกฤติฉุกเฉิน

 

ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์เมดฮับนิวส์ดอทคอม และ เพจ sasook รายงานว่า ที่ชนันดา เลควิวรีสอร์ท อ.นาหม่อม จ.สงขลา นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดการซ้อมแผนปฏิบัติการช่วยเหลือดูแลจิตใจประชาชนในภาวะวิกฤติฉุกเฉินของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทในระดับประเทศ  ซึ่งบูรณาการการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในพื้นที่ที่ประสบภัย

การฝึกครั้งนี้ได้จำลองสถานการณ์ภัยพิบัติ ดินโคลนถล่มครั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มทักษะในการจัดการดูแลปัญหาที่อาจเกิดตามมาได้อย่างครอบคลุม เช่น   การจัดการศูนย์พักพิง  เด็กจมน้ำ สารเคมีรั่วไหล ญาติผู้สูญหายเกิดปฏิกิริยา ไฟดูด ศพลอยน้ำ อาหารเป็นพิษ ทะเลาะขโมยของ  เป็นต้น    

สถานการณ์ภัยพิบัติในปัจจุบันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งจากภัยธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้าง  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจิตใจรุนแรงกว่าความเครียดจากเหตุการณ์ทั่วๆไป

จิตใจผู้ได้รับผลกระทบจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง เกิดความเครียด วิตกกังวล หวาดผวา ซึมเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง โดยมีโอกาสเกิดอาการป่วยทางจิตได้ร้อยละ 15-40 ของผู้ประสบภัย 

โรคที่มักพบได้บ่อยในไทยได้แก่ โรคเครียดเฉียบพลัน โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย และใช้สารเสพติดคลายทุกข์ เป็นต้น  จึงต้องมีระบบการดูแลช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจอย่างถูกต้อง เหมาะสมโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตที่กล่าวมาในระยะยาว

 

ขณะนี้ทั่วประเทศมีทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทครบทุกอำเภอจำนวน 863 ทีม มีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาลจิตเวช  นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร  และอื่นๆ จะให้การดูแลตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุ จนถึงระยะฟื้นฟูหลังเกิดเหตุไปแล้ว 3 เดือน

หรือจนกว่าสภาพจิตใจจะกลับมาเป็นปกติสอดคล้องกับหลักสากลคือรู้รับ ปรับตัว ฟื้นเร็วทั่ว อย่างยั่งยืน มีเครื่องมือตรวจประเมินสภาวะจิตใจ ใช้ง่าย ผลงานที่ผ่านมาสามารถดูแลครอบคลุมผู้ประสบภัยได้ร้อยละ 99 ในช่วง 1-2 ปีมานี้ยังไม่พบฆ่าตัวตายจากภัยพิบัติ

ขณะนี้กรมสุขภาพจิตมีนโยบายขยายทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทถึงระดับตำบล ได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์  จัดทำหลักสูตรฝึกอบรม ทดลองใช้ไปแล้วทุกภาครวม 96 ตำบล  คาดว่าเมื่อสมบูรณ์แบบ จะสามารถใช้จริงได้ในปีหน้านี้เป็นต้นไป 

ทางด้านแพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จ.สงขลา กล่าวว่า ทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทระดับตำบล ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อสม. เจ้าหน้าที่มูลนิธิ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แกนนำชุมชนเช่นผู้ใหญ่บ้าน กำนันและอื่นๆ

ทำงานเสมือนเป็นด่านหน้าของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทระดับอำเภอ เมื่อเกิดเหตุจะมีการสำรวจประเมินความรุนแรงสถานการณ์ ให้การปฐมพยาบาลทางใจ ตรวจคัดกรองสุขภาพจิตค้นหากลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตให้ได้รับการดูแลโดยเร็ว

ซึ่งมี 8 กลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้บาดเจ็บ กลุ่มญาติผู้เสียชีวิต กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านหรือติดเตียง ผู้มีประวัติใช้สารเสพติด ผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มที่สูญเสียรุนแรง และกลุ่มที่มีความคิดฆ่าตัวตาย

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News  

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

14 กรกฎาคม 2561

ผู้ชม 1907 ครั้ง

Engine by shopup.com