"วิชาชีพทางการแพทย์" ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง จากการทำงานด้านรังสี เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์

บทความ

"วิชาชีพทางการแพทย์" เสี่ยงเป็น "มะเร็ง" จากการปฎิบัติงานด้านรังสี

MED HUB NEWS - กรณีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งจากการปฏิบัติงานด้านรังสีนั้น medhubnews.com  เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข  และ เพจ sasook รายงานว่า ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามามี บทบาทต่อชีวิตประจำวันและการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน

แต่ในแง่หนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยคือ ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ทำให้การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ขาดการควบคุมดูแลให้ถูกต้องและเหมาะสม

จึงเป็นผลให้เกิดอันตรายได้ เช่นเดียวกันกับการนำเอาสารกัมมันตรังสีมาใช้ก็เช่นกัน เพราะสารกัมมันตรังสีนั้นมีประโยชน์มากมาย แต่โทษจากรังสีนั้นก็มีมากและหลายระดับทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณ ชนิดและเวลาได้รับรังสี

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ระบุว่า ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากรังสีแพร่หลายมากขึ้น เช่น ด้านการแพทย์ที่ใช้รังสีเอกซ์ในการตรวจวินิจฉัย การใช้เครื่องเร่งอนุภาคต่าง ๆ ในการรักษาโรคมะเร็ง
ขณะที่รังสี ไม่ได้มีประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสี จึงมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากรังสีในขณะปฏิบัติงาน

รังสีที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งทางการแพทย์ อุตสาหกรรมการเกษตร และงานวิจัย เช่น 

รังสีเบต้า ใช้รักษาโรคต้อเนื้อ (Sr-90) , สารพรายน้ำ (H-3) , สารสะท้อนแสง/เรืองแสง ( Pm-147 ) , ใช้ระงับอาการปวดของมะเร็งที่ลามไปกระดูก ( Sm-153 )

รังสีแกมมา ใช้รักษาโรคมะเร็ง (Co-60) , การฆ่าเชื้อโรคในเวชภัณฑ์ (Co-60) ,การวินิจฉัยโรคและรักษาโรคต่อมไทรอยด์ ( Co-60 ) ( I-125 , I-131)

การตรวจสอบการทำงานของไต ( I-131 ) , การตรวจสอบการทำงานของตับ/ทางเดินน้ำดี/ กล้ามเนื้อหัวใจ ( Tc-99m) , ศึกษาการไหลเวียนของเลือดที่ปอด/สมอง ( Tc-99m )

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ จึงได้ทำโครงการประเมินความเสี่ยงสุขภาพของบุคลากรด้านรังสีจากการปฏิบัติงาน

โดยวิเคราะห์จากค่าปริมาณรังสีเฉลี่ยในกลุ่มบุคลากร แล้วนำมาประเมินหาอัตราการเกิดโรคมะเร็ง

จากข้อมูลปริมาณรังสีบุคคลของปี 2559 ถึง 2560 พบว่าผู้ปฏิบัติงานด้านรังสี มีความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งจากการได้รับรังสีขณะปฏิบัติงานมีค่าน้อยมาก

โดยในช่วง 2 ปีนี้ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ได้ประเมินค่าปริมาณรังสีบุคคล จำนวน 35,428 ราย โดยจำแนกบุคลากรจากที่ใช้บริการแผ่นรังสีบุคคล ตามลักษณะการใช้งานออกเป็น 7 กลุ่ม

มีตัวแทนของแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มรังสีวินิจฉัย รังสีร่วมรักษา ทันตกรรม อุตสาหกรรม เวชศาสตร์นิวเคลียร์ วิจัย และรังสีรักษา

การวิเคราะห์ความเสี่ยงสุขภาพจากข้อมูลปริมาณรังสีที่บุคลากรได้รับ ประเมินเป็นค่าอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง พบว่าอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับปริมาณรังสีเฉลี่ย 0.596 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี

มีโอกาสเกิดมะเร็งจากการปฏิบัติงานที่ 3 คนต่อบุคลากร 1 แสนคน รองลงมาคือกลุ่มรังสีร่วมรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ซึ่งมีอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งที่ 2 คนต่อบุคลากร 1 แสนคน

และน้อยที่สุดคือกลุ่มรังสีวินิจฉัย รังสีรักษาและวิจัยที่มีอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งที่ 1 คนต่อบุคลากร 1 แสนคน สามารถสรุปได้ว่าทุกกลุ่มมีความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งจากการปฏิบัติงานต่อจำนวนบุคลากรในแต่ละกลุ่มน้อยมาก

บุคลากรผู้ปฏิบัติงานทางด้านรังสี ควรมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันอันตรายจากรังสี ต้องปฏิบัติตามหลักการป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องมีการเฝ้าระวังการได้รับรังสีอย่างสม่ำเสมอ

การได้รับรังสีสูงในขณะปฏิบัติงาน อาจเกิดอาการผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน และเรื้อรัง เกิดการทำลายเซลล์อ่อนที่แบ่งตัวเร็วภายในร่างกาย

เช่น ไขกระดูก หรือเกิดอันตรายต่ออวัยวะภายในร่างกาย จนถึงระดับมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หากเกิดความเสียหายต่อโครโมโซม

ดังนั้น การติดอุปกรณ์วัดระดับรังสีบุคคล เพื่อให้ทราบปริมาณรังสีที่ได้รับ การใช้เครื่องกำบังรังสี เพื่อกันรังสีที่จะได้รับให้มีระดับลดลง การตรวจวัดปริมาณรังสีบริเวณที่ปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังปริมาณรังสีในพื้นที่การทำงาน เหล่านี้เป็นมาตรการเบื้องต้นที่สามารถลดความเสี่ยงในการได้รับรังสีในระดับสูงโดยไม่จำเป็น

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

 

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

05 มกราคม 2564

ผู้ชม 5248 ครั้ง

Engine by shopup.com