“วัณโรค” รุนแรงวิกฤต ระวัง ไอ จามรับเชื้อ กรมวิทย์ผลิต "TB-LAMP" เผย “วัณโรค” รักษาให้หายขาดได้
“วัณโรค” รุนแรงวิกฤต ระวัง ไอ จามรับเชื้อ กรมวิทย์ผลิต "TB-LAMP" เผย “วัณโรค” รักษาให้หายขาดได้
News Update วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 : hottopicข่าววันนี้ - จากกรณี ธีร์ ภูมิธนะวัชร์ ดาราหนุ่ม ป่วยด้วยโรควัณโรคต่อมน้ำเหลือง
ล่าสุดทาง กองวัณโรค สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ( สอวพ. ) ได้เข้ามาช่วยเหลือแล้ว
ประเทศไทยมีผู้ป่วย "วัณโรค" เพิ่มขึ้นจนติดอันดับ 1 ใน 22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดของโลก
และคาดว่าเฉพาะในเขตกรุงเทพฯมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละกว่า 11,234 ราย
หากผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อ ไม่ได้รับการรักษาสามารถแพร่เชื้อด้วยการไอ จามและด้วยลักษณะของแบคทีเรียที่ส่งผลให้เกิดโรคอยู่ในอากาศทำให้ทุกคนมีโอกาสได้รับเชื้อได้
ทั้งนี้ วัณโรค รักษาให้หายขาดได้ภายใน 6-9 เดือน ด้วยการพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและกินยาต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้วัณโรคระบาดมากขึ้น
เพราะพฤติกรรม และสิ่งแวดล้อม เช่น สถานประกอบการที่มีแรงงานเคลื่อนย้าย ,แรงงานต่างด้าว ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี
medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุุถึงกรณี องค์การอนามัยโลก
จัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงระดับโลก กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564
โดยมีเป้าหมายเพื่อยุติวัณโรคโดยควบคุม และลดอุบัติการณ์วัณโรคให้ได้ตามเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เร่งรัดค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรคและผู้ป่วยให้ครอบคลุม โดยเฉพาะการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงสำคัญ
ซึ่งการควบคุมวัณโรคที่มีประสิทธิภาพ จะต้องวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องรวดเร็ว และรักษาด้วยยาที่ได้ผล อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย และเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา
ดังนั้น การพัฒนาและใช้วิธีการ ตรวจที่มีประสิทธิภาพ และได้ผลตรวจรวดเร็ว อีกทั้งราคาไม่แพง จะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยวัณโรคได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และคุ้มค่า
ปัจจุบันประเทศมีปัญหาในการวินิจฉัยวัณโรค ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมพิเศษ หรือต้องใช้เครื่องตรวจวินิจฉัยวัณโรคด้วยวิธีการตรวจทางโมเลกุล GeneXpert ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือเหล่านี้ยังไม่มีครอบคลุมทุกหน่วยบริการ
ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้ทำการวิจัยพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อวัณโรค ด้วยวิธี TB-LAMP โดยได้ประเมินประสิทธิภาพ
จนสามารถผลิตชุดตรวจเชื้อวัณโรคด้วยวัสดุ สารเคมีที่มีในประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิต มีหน่วยงานและโรงพยาบาลที่นำไปใช้แล้วสามารถทำการตรวจได้ และพึงพอใจกับชุดตรวจ
ทั้งนี้ชุดตรวจหาเชื้อวัณโรคที่พัฒนาขึ้นมีความไว ความจำเพาะสูง ราคาถูก ใช้เวลาตรวจไม่เกิน 2 ชั่วโมง สามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า ประสิทธิภาพสูงกว่าการย้อมเชื้อและตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
ผลตรวจเทียบได้กับการเพาะเชื้อ ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะทราบผล และมีความไวใกล้เคียงกับวิธีการตรวจทางโมเลกุล GeneXpert ซึ่งต้องมีเครื่องตรวจและตลับตรวจตัวอย่าง
ดังนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยวัณโรค ที่คุ้มค่า และสามารถตรวจได้ในห้องปฏิบัติการทั่วไป การตรวจด้วยชุดตรวจหาเชื้อวัณโรคด้วยวิธี TB-LAMP
เป็นนวัตกรรมใหม่ในการสนับสนุนการควบคุมวัณโรค ตามแนวทางการตรวจปัจจุบัน ขององค์การอนามัยโลก และเป็นวิธีตรวจที่พัฒนาได้เองในประเทศไทย
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com
03 กรกฎาคม 2562
ผู้ชม 5088 ครั้ง