บทเรียนจาก "พายุโซนร้อน Pabuk - น้ำล้นเขื่อนแก่งกระจาน" สภาวิศวกร สั่งวิศวกรเคร่งครัด อาคาร สิ่งปลูกสร้าง เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์นวัตกรรม การค้าการลงทุน

บทความ

บทเรียนจาก "พายุโซนร้อน Pabuk - น้ำล้นเขื่อนแก่งกระจาน" สภาวิศวกร สั่งวิศวกรเคร่งครัด อาคาร สิ่งปลูกสร้าง

MED HUB NEWS - บทเรียนจากเขื่อน สปป. ลาวแตก และ พายุโซนร้อน Pabuk medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่า  ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกรออกมาย้ำทุกหน่วยงานที่เป็นความรับผิดชอบของ "วิศวกร" ต้องตรวจเช็คป้องกันให้ดี

ขณะที่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข มีกองแบบแผน อยู่ภายใต้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประกอบด้วยบุคลากรทางด้านงานออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง

ครบทุกสาขาวิชาชีพ เช่นเป็นสถาปนิก วิศวกรโยธา วิศวกรไฟฟ้าวิศวกรสุขาภิบาล วิศวกรเครื่องกล ฯลฯ มีนายนิรันดร์ คชรัตน์ เป็นผู้อำนวยการ

โดย นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข สั่งการส่ง ทีมวิศวกรฉุกเฉิน หรือเอ็มเสิร์ท ( MSERT ) จากกองวิศวกรรมการแพทย์, กองแบบแผน และสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 5 จ.ราชบุรี ไปสมทบกับทีมเอ็มเสิร์ทในพื้นที่

เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย และวาตภัยจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” ซึ่งได้กำชับให้ทีมวิศวกรฉุกเฉินฯ จากทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง สถานบริการสุขภาพ และอสม.ต้องพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินตลอดเวลา

สำหรับบทบาทของทีมเอ็มเสิร์ทนั้น จะมุ่งเน้นในการเตรียมความพร้อมและดูแลสถานบริการสุขภาพให้พร้อมทำการได้ตลอดระยะเวลาที่เกิดภัยพิบัติ ใน 2 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1 ด้านวิศวกรรมการแพทย์อาทิระบบไฟฟ้า, ระบบก๊าชทางการแพทย์, ระบบประปา, ระบบลิฟต์และขนส่ง, ระบบสื่อสารฯลฯจะต้องมีการป้องกันมิให้น้ำท่วม และมีระบบสำรองในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

2 ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม จะต้องมีการตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของโครงสร้าง หลังคา เสาวิทยุสื่อสาร ป้ายต่างๆ ที่เป็นบริเวณรับลมหรือรองรับน้ำฝนในปริมาณมาก

มีการเตรียมความพร้อมและป้องกันระบบระบายน้ำฝน ระบบบำบัดน้ำเสีย เคลื่อนย้ายเครื่องจักร  พัสดุ อุปกรณ์ ให้อยู่ในพื้นที่สูง รวมทั้ง เตรียมสถานที่ปลอดภัยสำหรับเป็นศูนย์อพยพ หรือรองรับการส่งต่อผู้ป่วยจากสถานบริการสุขภาพ

นอกจากนี้หน่วยงานส่วนกลาง ทั้งกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน, กองสุขศึกษา และกลุ่มแผนงานจะร่วมจัดทำข้อมูลคำแนะนำในการดูแลและป้องกันตนเองในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ให้กับสำนักสนับสนุนบริการสุขภาพเขต และศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานในพื้นที่ประสบภัยเพื่อส่งต่อให้กับเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

ร่วมเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลความปลอดภัยของประชาชน และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ หรือหญิงตั้งครรภ์  และถ่ายทอดความรู้ที่ได้ให้แต่ละครัวเรือนในการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าหากเกิดน้ำท่วมระยะยาว

ด้าน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวในมุมของวิศวกรว่า มี 4 ลักษณะการวิบัติโดยทั่วไปของเขื่อน  อาจเป็นสิ่งบอกเหตุได้ที่ต้องระมัดระวัง

โดยที่บุคคลทั่วไปและประชาชนทั่วไปสามารถช่วยสังเกต ร่วมกันแจ้งเตือน และช่วยกันเฝ้าติดตามดูถึงความผิดปกติของสภาพเขื่อนทั่วไปในเบื้องต้นได้

ได้แก่ 1. มีน้ำมากจนน้ำล้นข้ามสันเขื่อน 2. มีปัญหากัดเซาะหรือชะล้างออกไปจนมีลักษณะเป็นรูโพรง  3. ส่วนการวิบัติที่มาจากโครงสร้างของตัวเขื่อน  และ 4. ความบกพร่องของฐานราก

ส่วนการตรวจสอบว่าเป็นการวิบัติของโครงสร้างตัวเขื่อน และความบกพร่องของฐานรากหรือไม่ ส่วนนี้จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการมาเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบให้

สำหรับการวิบัติจากน้ำล้นสันเขื่อน เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการวิบัติในอันดับต้นๆ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สรุปได้ดังนี้ คือ การคาดการณ์ทางอุทกวิทยาไม่เหมาะสม การเปิดปิดบานระบายน้ำล้นไม่ถูกต้อง มีการถล่มของดินลงในอ่างทำให้เกิดคลื่นใหญ่

การออกแบบให้ระดับผิวน้ำและสันบนเขื่อน ( Freeboard ) ไม่เหมาะสม การชำรุดของบานระบาย การปิดกั้นบานระบายน้ำอันเนื่องจากเศษวัสดุ

การป้องกันน้ำไหลล้นข้ามสันเขื่อน จะต้องพิจารณาคำนวณออกแบบอาคารระบายน้ำล้นให้มีขนาดและประสิทธิภาพในการระบายน้ำอย่างเพียงพอ

ความสามารถในการระบายน้ำจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะกำหนดขอบเขตหรือประสิทธิภาพในการควบคุมปริมาณของน้ำในอ่างเก็บน้ำ ที่ควรจะต้องมีการศึกษา และ ทบทวนการออกแบบน้ำล้น ( Spillway Design Flood ) เพื่อทบทวนและกำหนดกฎเกณฑ์ในการเปิด-ปิดทางระบายน้ำล้นและท่อระบายน้ำให้เหมาะสม

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการวิบัติของเขื่อนในการรั่วซึมของฐานรกและตัวเชื่อมนั้น จะเกิดจากการกัดเซาะที่เกิดขึ้นจากภายในตัวเขื่อนดังกล่าว จะไม่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย ซึ่งอาจจะเกิดการกัดเซาะต่อเนื่องจนเป็นสาเหตุให้เขื่อนพังได้ในที่สุด

หากเป็นการทรุดตัวต่างกันของพื้นที่บนสันเขื่อน จนทำให้เกิดรอยแยกในตัวเขื่อน มีข้อสังเกตได้ว่า ถ้าการทรุดตัวเกิดขึ้นสม่ำเสมอกันจะไม่ค่อยมีอันตราย

แต่ถ้าเกิดขึ้นต่างกันก็มักจะมีผลทำให้เกิดรอยแตกแยกขึ้นได้ทั้งผิวนอกของตัวเขื่อน ซึ่งสามารถเห็นได้ หรือถ้าเป็นภายในตัวเขื่อน ก็จะยากต่อการตรวจพบ แล้วยังอาจเป็นสาเหตุสืบเนื่องก่อให้เกิดการรั่วซึมของตัวเขื่อนได้

ด้านการเคลื่อนพังของลาดเขื่อนและฐานรากนั้น การวิบัติลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยมีการบอกเหตุล่วงหน้าน้อยมาก และมักเกิดร่วมกับการเปลี่ยนแปลงความดันน้ำภายในตัวเขื่อนหรือฐานราก

ช่วงวิกฤตที่อาจเกิดการวิบัติ คือ ระหว่างหรือหลังการก่อสร้าง ระหว่างเก็บกักน้ำ ระหว่างการลดระดับน้ำในอ่างอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ การวิบัติของเขื่อนยังอาจเกิดขึ้นจากการกัดเซาะของคลื่น ที่พัดเข้ากระทบลาดเขื่อนเหนือน้ำ ส่วนการัดเซาะจากน้ำฝน ปกติจะป้องกันได้จากการปลูกหญ้าหรือทำหินเรียงคลุมไว้ 

แต่ถ้าดินมีลักษณะการกระจายตัวในน้ำได้ง่าย ( Dispersive Clay ) จะเกิดการกัดเซาะบนลาดเขื่อนได้มากจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายได้

อีกเหตุหนึ่งคือ การวิบัติหรือเสียหายเนื่องจากแผ่นดินไหว ( Earthquake) แผ่นดินไหวจะส่งผลต่อความมั่นคงของเขื่อน เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ ทำให้เกิดแรงกระทำเพิ่มขึ้นในวัสดุตัวเขื่อน เป็นพฤติกรรมความเสียหายที่อาจนำไปสู่การวิบัติของเขื่อนได้

สำหรับการสังเกตด้วยตาเปล่า สัญญาณแรกที่เราสังเกตได้ด้วยสายตาได้ เช่น การเกิดรอยร้าวที่สันเขื่อน ปกติถ้ามีความสมบูรณ์ที่มองเห็นได้ ก็คือ จะไม่มีรอยร้าว หรือไม่มีการรั่วซึม แต่ถ้าเราสังเกตได้ด้วยตาเปล่า แล้วเห็นรอยร้าวที่เกิดขึ้น

ซึ่งจะแบ่งออกเป็นรอยร้าวตั้งฉากกับสันเขื่อน กับรอยร้าวตามแนวสันเขื่อน อันนี้เป็นสัญญาณแรกเลยว่า การที่เกิดรอยร้าว แสดงว่าตรงที่ฐานราก อาจจะมีการทรุดตัวหรืออาจมีการสั่นอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้น อันนี้จะต้องส่งสัญญาณเลยว่า alert ควรจะต้องรีบแจ้งเข้ามาทันที

ทั้งนี้ เข้าใจได้ว่าแต่ละเขื่อนจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น กรมชลประทาน การไฟฟ้าฯ ซึ่งแต่ละแห่งจะมีคู่มือหรือขั้นตอนในการตรวจสอบที่ดีอยู่แล้ว

ดังนั้น  จึงขอฝากไปที่ผู้ที่เกี่ยวข้องว่าขอให้ใช้วิธีต่างๆ ให้เคร่งครัดอย่างสม่ำเสมอ และ เน้นเรื่องติดตั้งดูแลอุปกรณ์เครื่องมือในการควบคุม instrumentation ที่ ตัวเขื่อนเป็นหลัก เนื่องจากบางครั้งกว่าที่สายตาจะสังเกตเห็นสิ่งบอกเหตุ ก็กินเวลาไปแล้ว

ถ้าใช้ตรวจด้วยเครื่องมือระบบอิเลคโทรนิก จะตรวจได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง คิดว่าถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนและคนไทย  และไม่อยากจะให้บทเรียนที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว มาเกิดขึ้นในประเทศไทย

ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยากจะได้ความช่วยเหลือจากสภาวิศวกร ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีวิศวกรอยู่จำนวนมากสภาวิศวกรยินดีจะให้ความช่วยเหลือ” 

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

 

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

15 มกราคม 2562

ผู้ชม 3017 ครั้ง

Engine by shopup.com