"คุณแม่คุณลูกตามหลักการแพทย์" เผยผลวิจัยชี้ความผูกพันช่วยเสริมไอคิว
"คุณแม่คุณลูกตามหลักการแพทย์" เผยผลวิจัยชี้ความผูกพันช่วยเสริมไอคิว
MED HUB NEWS - กรมสุขภาพจิต เผยความผูกพันทางอารมณ์ช่วยเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก สามารถต่อยอดสู่การมีความฉลาดทางด้านสติปัญญา และอารมณ์ ทำให้เด็กปรับตัว
และมีผลการเรียนที่ดี medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการทบทวนปัจจัยที่มี ผลต่อพัฒนาการ และความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิวของเด็ก
พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อไอคิวของเด็ก คือ ลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งการเลี้ยงดูที่ดี จะต้องมีรากฐานมาจากการที่เด็กและพ่อแม่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่แน่นแฟ้นมั่นคงต่อกันมาตั้งแต่ก่อนปฐมวัย
โดยเฉพาะขวบปีแรก ซึ่งจะส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นใจ และรู้สึกปลอดภัยที่จะทำสิ่งต่างๆ กล้าเรียนรู้ และริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ และเมื่อเด็กมีอารมณ์กลัว โกรธ หรือวิตกกังวล ผิดหวัง
คนที่เด็กมีความผูกพันทางอารมณ์ด้วยเท่านั้น ที่จะช่วยปลอบโยนเด็ก ทำให้เด็กคลายความโกรธ ความกลัว ความวิตกกังวลลงได้
ซึ่งมีการศึกษาพบว่า เด็กช่วงอายุ 0-3 ปี แม้จะมีพัฒนาการที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากพ่อแม่ หรือผู้ดูแลมีปัญหาในการสร้างความผูกพันกับเด็ก จะส่งผลให้เด็กมีปัญหาแยกตัว ก้าวร้าว และสมาธิไม่ดีได้
นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยระยะยาว พบว่า เด็กทารกที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง มีระดับพัฒนาการจากการทดสอบด้วยแบบทดสอบระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กเล็กต่ำกว่าเด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู
ส่วนในเด็กวัยเรียน พบว่า ความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคง สัมพันธ์กับระดับสติปัญญา การปรับตัว และผลการเรียนของเด็ก โดยเด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงกับผู้เลี้ยงดูจะมีผลการเรียนดีกว่า และมีค่าไอคิวสูงกว่าเด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง
ด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ระบุว่า การสร้างความผูกพันทางอารมณ์จะเกิดจากความใกล้ชิดระหว่างลูกและพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู
โดยการใช้เวลาร่วมกัน พ่อแม่ต้องมีความไวในการรับรู้ถึงความรู้สึก ความต้องการของลูก และตอบสนองต่อลูกอย่างเหมาะสม คงเส้นคงวา และให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
มี 8 วิธี ช่วยต่อยอดการเป็นคนดี และคนเก่งของลูก คือ 1. พยายามสังเกตพฤติกรรม ท่าทาง การแสดงออกของลูกว่า ต้องการสื่อสารอะไรกับพ่อแม่ และพยายามแปลการแสดงออกนั้นให้ได้
โดยเฉพาะกับลูกเล็กๆ ที่ยังพูดไม่ได้ต้องอาศัยการสังเกตสีหน้า ท่าทาง จดจำท่าทางเหล่านั้น แล้วตอบสนองทันทีอย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ
2. เล่นกับลูกให้ลูกเป็นผู้เลือก และนำเล่น โดยที่พ่อแม่ไม่ขัดจังหวะ วันละอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน 3. กำหนดช่วงเวลาในการทำกิจวัตรประจำวันของลูกให้เป็นปกติ สม่ำเสมอในแต่ละวัน
4. การสื่อสารด้วยภาษาท่าทาง โดยเฉพาะในขวบปีแรก เช่น การมอง การสบตาลูก การกอด การยิ้มให้ การอุ้มเดิน 5. การสัมผัส การกอด การอุ้ม เป็นการให้ความอบอุ่นทางใจ โดยเฉพาะเวลาลูกร้องไห้ การอุ้มเป็นการช่วยจัดการอารมณ์ของลูกได้ดี ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และสงบลงได้
6 ในลูกวัยเตาะแตะ ช่วง 1-3 ขวบ ควรให้อิสระในการเล่น การออกสำรวจ ค้นหา และทดลองทำ ในสิ่งใหม่ๆ โดยพ่อแม่ต้องอยู่ใกล้ๆ เนื่องจากยังต้องการกำลังใจ เพื่อยืนยันว่า การกระทำนั้น สามารถกระทำได้ ปลอดภัย และมั่นใจในการกระทำ ทำให้ลูกกล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ได้ด้วยตนเอง
7. ในช่วง 6 เดือนแรก ไม่ควรเปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อย หรือมีคนเลี้ยงหลายคน ควรมีคนเลี้ยงหลัก เพียงคนเดียว และ 8. ลูกควรมีความผูกพันทางอารมณ์แนบแน่นต่อเนื่องยาวนานกับผู้ใหญ่อย่างน้อย 1 คนในครอบครัว
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
06 มกราคม 2562
ผู้ชม 1953 ครั้ง