"จิตแพทย์" เข้าใจ "หัวอกพ่อแม่ มีลูกเป็นออทิสติก" จัดทำคู่มือความรู้เรื่องเพศ พร้อมให้คำแนะนำ สายด่วนสุขภาพจิต 1323
"จิตแพทย์" เข้าใจ "หัวอกพ่อแม่ มีลูกเป็นออทิสติก" จัดทำคู่มือความรู้เรื่องเพศ พร้อมให้คำแนะนำ สายด่วนสุขภาพจิต 1323
MED HUB NEWS - “กรมสุขภาพจิต” เข้าใจถึงปัญหาต่างๆ อย่างดี และ ห่วงหัวอกพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมาปรากฏข่าวสารอันหดหู่ให้กับพ่อแม่เด็กพิเศษที่ใช้ชีวิตลำบากอยู่แล้ว ใครไม่มีลูกเป็นออทิสติก ไม่มีทางเข้าใจ
กรมสุขภาพจิตจัดทำคู่มือให้ความรู้ความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเพศเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และการดูแลพฤติกรรมแสดงออกทางเพศไม่เหมาะสม
medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า กรมสุขภาพจิตได้ใส่ใจการพัฒนาคุณภาพชีวิต "กลุ่มเด็กพิเศษ" มาโดยตลอด
เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา เช่นเด็กออทิสติก เด็กที่มีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยปกติเป็นต้นซึ่งเด็กจะมีการเจริญเติบโตทางร่างกายเช่นเดียวกับเด็กปกติ
และเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น คืออายุ 9-15 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ ผู้หญิงจะมีรอบเดือน ส่วนผู้ชายจะมีเสียงแตก มีขนขึ้นตามร่างกาย แต่เด็กมีข้อจำกัดทางด้านการสื่อสารบอกเล่าและขาดความรู้ความเข้าใจ
อาจมีผลให้มีพฤติกรรมแสดงออกทางเพศไม่เหมาะสมซึ่งมีรายงานพบในต่างประเทศร้อยละ 30-44 ส่วนใหญ่จะเริ่มเมื่ออายุประมาณ 9 ขวบ จึงจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลใส่ใจเป็นพิเศษจากผู้ปกครองรวมทั้งครูที่ดูแลด้วย
คู่มือ Smart Ways to Deal with Sexuality and Autism ในต่างประเทศ
กรมสุขภาพจิตได้ให้สถาบันราชานุกูลจัดทำ คู่มือเพศศึกษา ในกลุ่มของเด็กพิเศษเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงทางเพศ
รู้วิธีการจัดการดูแลปัญหาพฤติกรรมทางเพศอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เด็ก และลดความเสี่ยงการถูกคุกคามทางเพศโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง
ด้านคุณหมอจ๋า แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า พฤติกรรมทางเพศ เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ พฤติกรรมทางเพศที่พบได้บ่อยในเด็กพิเศษ มี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. พฤติกรรมการช่วยตนเอง มักพบในเด็กผู้ชายมากกว่าหญิง
2. พฤติกรรมการสัมผัสอวัยวะเพศที่ไม่เหมาะสม เช่นเล่นอวัยวะเพศในที่สาธารณะ และ 3. พฤติกรรมการแสดงออกเพศตรงข้ามถึงความพึงพอใจ
เช่นการกอดสัมผัส โดยพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกตินี้จะพบมากขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีระดับไอคิวที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าด้วยหรือพบในเด็กที่มีภาวะออทิสติกในระดับรุนแรง ในการดูแลพฤติกรรมทางเพศของเด็กกลุ่มนี้
จึงแนะนำให้ผู้ปกครองใช้หลักต้อง 5 และอย่า 1 หลักต้อง 5 เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองต้องทำ ได้แก่ 1. ต้องแนะนำช่วยเหลือเด็กเรื่องการดูแลตนเองและให้การวางตัวทางเพศเหมือนกับเด็กปกติทั่วไป
2. ต้องให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวเป็นต้นแบบที่ดีให้เด็กทำตาม เช่นการแต่งตัวที่มิดชิด ไม่ล่อแหลม 3. ต้องมีกฎเกณฑ์จัดการปัญหาอย่างชัดเจนและเด็ดเดี่ยว เช่นบอกว่าห้ามเล่นก็คือห้ามเล่น ให้เด็กเกิดการเรียนรู้และปรับลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาให้หมดไป
4. ต้องอดทนใจเย็น อดทนต่อพฤติกรรมทางเพศของลูกที่อาจเกิดซ้ำๆ ซึ่งการแก้ไขต้องใช้เวลา และ 5. ต้องปรึกษาและบอกครูที่โรงเรียน เพื่อให้ช่วยกันเฝ้าระวังดูแลแต่ต้องไม่ใช่เป็นการจ้องจับผิด ควรหากิจกรรมเสริมให้เด็กทำ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจออกไปทางอื่น
สำหรับ 1 อย่าที่ผู้ปกครองห้ามใช้ก็คือ อย่าใช้อารมณ์จัดการปัญหาพฤติกรรมทางเพศของลูก เช่นใช้การลงโทษรุนแรง เช่นทุบ ตี ดุด่าว่ากล่าว เพราะยิ่งจะทำให้เด็กต่อต้านซึ่งไม่เกิดการเรียนรู้ที่ดี
การจัดการปัญหาต้องทำด้วยความใจเย็น ใจแข็ง และอดทน ต้องค่อยๆปรับแก้ทั้งการเสริมและการเติมสิ่งที่จำเป็นเพื่อแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
ทั้งนี้การป้องกันปัญหาพฤติกรรมทางเพศของเด็กพิเศษที่ดีที่สุด คือการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก เช่นวัยเด็กเล็ก พ่อแม่ควรสอนให้รู้จักใช้ห้องน้ำ รู้จักเพศของตัวเอง ใช้ผ้าเช็ดตัวคลุมตัวไม่เดินแก้ผ้า
ช่วงวัยเด็กโต ควรสอนเรื่องการเข้าหาผู้อื่นที่ถูกต้องเหมาะสม เล่นกับเพื่อนในโรงเรียนทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สอนให้รู้ความแตกต่างของเพศหญิงชาย สอนให้ใช้ห้องน้ำสาธารณะให้เป็น
โดยผู้ปกครองหรือคุณครูสามารถดาวน์โหลดคู่มือนี้ ซึ่งจัดทำ 2 ฉบับคือฉบับผู้ปกครอง และฉบับของครู ได้ฟรีที่ rajanukul.go.th และ สายด่วน 1323 สายด่วนจิตแพทย์
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
08 มกราคม 2562
ผู้ชม 5198 ครั้ง