อธิบดีกรมสุขภาพจิต สร้างจิตเวชชุมชนยึดโคราชโมเดล 1 หมู่บ้าน 1 ศูนย์ฟื้นฟู
อธิบดีกรมสุขภาพจิต สร้างจิตเวชชุมชนยึดโคราชโมเดล 1 หมู่บ้าน 1 ศูนย์ฟื้นฟู
MED HUB NEWS - ในอดีตองค์การอนามัยโลก ได้เสนอความคิดขึ้นมาว่า หากจะให้ประชากรทุกคนในโลกหรือประชากรในประเทศมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้นแล้ว งานสาธารณสุขจะต้องได้รับการส่งเสริม ให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
จากนั้น ประเทศสมาชิกทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย ได้ดำเนินการเรื่อง "สาธารณสุขมูลฐาน" เรื่อยมา กระทั่งปัจจุบันไทยจะเป็นต้นแบบ "สาธารณสุขมูลฐาน"
จากที่เคยประชุมในเมืองอัลมาอตา ประเทศรัสเซีย ทุกประเทศต่างเห็นด้วย "สาธารณสุขมูลฐาน" เป็นกลวิธีที่เหมาะสมที่จะทำให้ประชากรทุกคนมีสุขภาพอนามัยที่ดีอย่างทั่วถึงได้
medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะ
ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เพื่อติดตามผลการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการดูแลรักษาประชาชนที่เจ็บป่วยทางจิตเวช
ภาพรวมขณะนี้ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้ปรับเปลี่ยนโฉมบริการสนองตามนโยบายหลัก 3 ประการคือ มีสิ่งแวดล้อมทั้งสถานที่ร่มรื่น ผ่อนคลาย จุดบริการต่างๆ เป็นมิตร ให้เกียรติผู้ป่วย และญาติและดูแลเสมือนเป็นคนในครอบครัว
มีผู้ป่วยใช้บริการวันละ 600 คน โดยเป็นผู้ป่วยนอก 320 คน ที่เหลือเป็นผู้ป่วยในซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อนทั้งหมด
หลังจากที่ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์พบว่าประชาชนพึงพอใจบริการเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 94 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 99 ใน ปี 2561
ประเด็นที่กรมสุขภาพจิตเร่งดำเนินการ คือ การจัดระบบการดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงก่อความรุนแรงหลังจากที่ได้รับการฟื้นฟูด้านกายใจสังคมและจิตวิญญาณ จนอาการดี ปลอดภัย แล้วแพทย์ให้กลับไปอยู่ในชุมชน
ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 80,000 คน หรือประมาณร้อยละ 15-20 ของผู้ที่อยู่ในระบบการรักษาที่มีประมาณ 400,000 คน
เพื่อป้องกันการป่วยซ้ำ การก่อความรุนแรงจากอาการหลงผิด หูแว่ว ประสาทหลอน เช่น ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่นหรือทำลายทรัพย์สิน
โดย รพ.จิตเวชนครราชสีมา ได้วิจัยพัฒนารูปแบบการดูแลในชุมชนที่วัดห้วยพรม ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เป็นเวลา 2 ปี
เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ซึ่งใช้ 4 ระบบบริการหลักคือ การเยี่ยมบ้าน การเฝ้าระวังอาการทางจิตกำเริบ ระบบบริการจิตเวชฉุกเฉินและการดูแลฟื้นฟูในชุมชน
โดยมีชมรมการฟื้นฟูและดูแลผู้พิการทางจิตเป็นแกนจัดกิจกรรม เช่น ปลูกผักจำหน่าย การออกกำลังกาย พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงอยู่ในความดูแลทั้งหมด 92 คน
จากการติดตามประเมินผลในปี 2561 พบว่าได้ผลดีมาก ทุกรายไม่มีอาการกำเริบ สามารถทำงานได้ 89 คน อีก 3 คนทำงานไม่ได้แต่สามารถดูแลตัวเองได้ดี ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีอาการกำเริบจะต้องใช้ต้นทุนดูแลรักษาเฉลี่ยรายละ 31,390 บาท
การทำงานอย่างบูรณาการระหว่าง อสม.เชี่ยวชาญสุขภาพจิตชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครอบครัว และชุมชน ผลลัพธ์ที่ได้ประการสำคัญที่สุด คือทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในชุมชนได้อย่างมีศักดิ์ศรี
มีความสุข มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นทั้งครอบครัว ชุมชนจะมีความเข้าใจปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตใจ ผู้ป่วยว่าไม่ใช่คนน่ารังเกียจ หรือน่ากลัว หรือไร้ความสามารถอีกต่อไป
ด้านแพทย์หญิงสุวรรณี เรืองเดช ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.ได้จัดคลินิกดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเรื้อรัง เสี่ยงก่อความรุนแรงโดยเฉพาะ ผู้ป่วยสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียว รับบริการได้ทุกจุด
ในต้นปี 2562 จะนำระบบคิวออนไลน์มาใช้ที่แผนกผู้ป่วยนอกด้วย ส่วนการขยายผลการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ในปีนี้ได้สนับสนุนให้ตั้งชมรมการฟื้นฟูและดูแลผู้พิการทางจิตทุกประเภทในเขตสุขภาพที่ 9 เป็นต้นแบบทั้งหมด 22 ชมรม
ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา 18 ชมรมอาทิที่ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง และที่ จ.ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ แห่งละ 1 ชมรม โดยจะศึกษาวิจัยประเมินผลด้วย เพื่อขยายผลใช้ทั่วประเทศโดยเร็ว
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
16 มกราคม 2562
ผู้ชม 3868 ครั้ง