"เสียงดังกรอบแกรบ" ลั่นออกมาจากข้อ อันตรายเป็น "โรคข้อเข่าเสื่อม หรือไม่" ? เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การค้าการลงทุนด้านสุขภาพ

บทความ

"เสียงดังกรอบแกรบ" ลั่นออกมาจากข้ออันตรายเป็น "โรคข้อเข่าเสื่อมหรือไม่" ?

 

MED HUB NEWS - หากพูดถึง “โรคที่เกี่ยวข้อเข่า”  หลายคนคงจะนึกถึงปู่ย่าตายาย ที่เดินไปก็ร้องโอดโอยเพราะเจ็บเข่าไป มีเสียงดังกรอบแกรบลั่นออกมาจากข้อ

แต่อันที่จริงแล้วไม่ได้มีเพียงแค่วัยชราเท่านั้นที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม วัยทำงานเองก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นเดียวกัน แต่คุณอาจเป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว 

นอกจากนี้ เป็นปัญหาสำคัญของพระสงฆ์สูงอายุ ทำให้การทำวัตรปฏิบัติ เช่น บิณฑบาต การทำวัตรสวดมนต์ การนั่งสมาธิ ไม่สามารถทำได้ 

ล่าสุด www.medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่า  นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์  ให้ข้อมูลถึงโรคข้อเข่าเสื่อม

เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในพระสงฆ์สูงอายุ ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะต้องทุกข์ทรมานจากอาการปวด บวมอักเสบ และเจ็บข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว 

จึงเป็นสาเหตุทำให้พระอาพาธด้วยโรคข้อเข่าเสื่อม ไม่อยากเคลื่อนไหวส่งผลให้ข้อเข่าติดหรือข้อเข่าผิดรูปไปในที่สุด

จากสถิติของ ผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสงฆ์ ปี  2558 พบพระสงฆ์อาพาธด้วยโรคดังกล่าว  จำนวน 1,014 รูป ปี 2559 จำนวน 2,708 รูป และ ปี 2560 มีจำนวน 981 รูป

สำหรับผู้ป่วยใน ปี 2558 จำนวน 48 รูป ปี 2559 จำนวน 56 รูป และ ปี 2560 จำนวน 50 รูป ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม คือ กระดูกอ่อนของข้อเข่าหรือผิวข้อสึกกร่อนเป็นผลทำให้ข้อต่อเสียดสีกันจนเกิดการอักเสบ ปวด บวม

โดยปกติแล้วกระดูกอ่อนที่ฉาบผิวข้อต่อ มีหน้าที่ในการป้องกันการเสียดสีกันของกระดูกข้อ เมื่อมีการเคลื่อนไหวต่างๆ  เช่น  เดิน  ยืน  ลุกนั่งโดยเฉพาะนั่งขัดสมาธิ  คุกเข่าสวดมนต์  จะทำให้ข้อต่อต้องทำงานประสานกันอย่างต่อเนื่อง  

เมื่อกระดูกอ่อนที่ข้อต่อบางลง กระดูกข้อต่อจะเสียดสีกันจนเกิดอาการอักเสบในรายที่มีการอักเสบของข้อเข่าจะมีอาการข้อเข่าบวมเป็น ๆ หาย ๆ

อาการข้อฝืด หรือตึงข้อในขณะเคลื่อนไหว จะมีอาการหลังตื่นจากการจำวัด ไม่สามารถขยับข้อเข่าได้ตามปกติ หรือมีอาการขณะเปลี่ยนท่า 

ทำให้ไม่สามารถทำกิจของสงฆ์ได้คล่องแคล่วเหมือนเดิม  หากปล่อยไว้นานจะเกิดภาวะแทรกซ้อน คือ ข้อเข่าผิดรูป ขาโก่งจากข้อเข่าเสื่อมได้

ขณะที่ นายแพทย์สมนึก  อร่ามเธียรธำรง  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์  กล่าวถึงการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมขึ้นอยู่กับระยะของการเสื่อมของข้อและระดับความรุนแรง

การรักษาแบ่งเป็น  การรักษาแบบประคับประคองอาการและการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า  การพบแพทย์เพื่อประเมินอาการจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุดในการวินิจฉัยโรคและระยะความรุนแรง

กรณีพระสงฆ์สูงอายุที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมไม่มาก แพทย์จะแนะนำให้ลดการใช้งานของข้อรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อข้อ ร่วมกับประคบอุ่นหรือสมุนไพร เพื่อบรรเทาอาการปวดบวม และรับประทานยาแก้ปวดหรือฉีดยาเข้าข้อเพื่อลดอาการอักเสบ หรือน้ำข้อเทียมตามที่แพทย์สั่ง

หากการเสื่อมของข้อเข่ารุนแรงมากจนไม่สามารถทำวัตรปฏิบัติศาสนกิจได้ แพทย์จะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าโดยใส่ข้อเข่าเทียมให้ทั้งนี้พระสงฆ์สูงอายุที่มีโรคประจำตัวซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด แพทย์จะใช้วิธีนี้ในกรณีผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมจนข้อถูกทำลายอย่างมากแล้วเท่านั้น

ดังนั้น การใช้ข้ออย่างถูกวิธี ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมในพระสงฆ์สูงอายุ

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ  สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

 

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

03 ธันวาคม 2561

ผู้ชม 4479 ครั้ง

Engine by shopup.com