"จิตแพทย์" ห่วงพฤติกรรม "รูปไม่ตรงปก" โพสต์ภาพคนอื่น หรือ สวยด้วยแอพ เสี่ยงขาดความเชื่อมั่น เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การค้าการลงทุนด้านสุขภาพ

บทความ

ห่วงพฤติกรรม "รูปไม่ตรงปก" โพสต์ภาพคนอื่น สวยด้วยแอพ เสี่ยงขาดความเชื่อมั่น

MED HUB NEWS - ปัญหาที่หลายๆ คนมักจะพบในสังคมดิจิตอล เช่น กรณีหญิงสาวตั้งกระทู้ถามในเว็บบอร์ดว่า "ผู้ชายจะรับได้มั้ยคะ ถ้านัดเจอผู้หญิงที่คุยกันในเฟสบุ๊ค แล้วไม่เหมือนตัวจริง ยอมรับนะคะว่ารูปกับตัวจริงไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ใช้แอพเยอะขนาดนั้น 

เคยนัดบอดกับผู้ชาย พอเจอจริงๆพี่เค้าหล่อมากนิสัยดีทุกอย่างดีหมด แต่เรานี่สิ เกร็งไปหมด ไม่มั่นใจตัวเองค่ะ" ...ผู้ชายอาจจะหลอนไปแล้วก็ได้นะ

ขณะที่ข่าวฮือฮาในรอบสัปดาห์ สำหรับหนุ่มเจ้าของฉายา นัท โอนไว ที่เจ้าตัวโดนหลอกให้โอนเงินจำนวนกว่า 3 หมื่นบาท เพราะสาวสวยรูปโปรไฟล์เซ็กซี่ทักแชตมาหา บอกเป็นเจ้าของรีสอร์ตแต่มีปัญหาเรื่องเงิน 

ส่วนนัท โอนไว ยอมรับว่าชอบเล่นแชทคุยกับสาวสวยๆ โดยเฉพาะเจ้าของเฟซบุ๊กรูปโปรไฟล์สุดเซ็กซี่

medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่าปัญหารูปไม่ตรงปก กรมสุขภาพจิต ได้เป็นห่วงพฤติกรรมการเซลฟี่ ( selfie ) ของประชาชนในสังคมออนไลน์กำลังกลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน 

ซึ่งเป็นการสื่อสารแสดงออกถึงตัวตนบุคคลโดยถ่ายรูปตนเองในอริยาบทต่างๆ แล้วแชร์ภาพเผยแพร่ในสังคมออนไลน์  

การเซลฟี่นั้นมีความสำคัญกับความคิดของตัวตนอย่างมากมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง    

หากเซลฟี่ในลักษณะเหมาะสมคือไม่ได้หวังผลอะไร จะไม่มีผลเสียอะไร เก็บไว้เป็นความประทับใจได้แต่หากเซลฟี่มีความถี่มาก เพื่อให้เพื่อนๆมากดไลค์ หรือเขียนข้อความแสดงความเห็นต่างๆ จนเกิดการหมกมุ่น  

อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตัวเอง   หากโพสต์รูปตัวเองไปแล้วและได้รับการตอบรับน้อย คนกดไลค์น้อย ไม่เป็นไปตามคาดหวังและโพลต์ใหม่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ

จะส่งผลให้บุคคลนั้นขาดความมั่นใจ และอาจไม่ชอบ ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง เกิดความกังวล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อสะสมไปเรื่อยๆก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย

เช่น หวาดระแวง  เครียด  ซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่น่าเป็นห่วง  โดยหากเป็นเยาวชน วัยรุ่น จะมีผลกระทบต่ออนาคต

เด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง จะมีผลให้พัฒนาตัวเองยาก ขาดภาวะการเป็นผู้นำ ซึ่งมีความสำคัญมากในการใช้ชีวิตทั้งการทำงาน ครอบครัว   

โอกาสที่จะคิดพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ จึงเป็นไปได้ยากขึ้นมีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างคาดไม่ถึง

แพทย์หญิงกุสุมาวดี  คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า โดยทั่วไปตัวตนของคนเรา มี 4 ประเภท

คือ 1.ตัวตนจริงๆเช่นรูปร่าง หน้าตา สวย หล่อ มีทักษะความสามารถ 2. ตัวตนที่เรารับรู้ตัวเอง ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับตัวตนที่แท้จริงก็ได้

เช่นคนที่เห็นแก่ตัวอาจไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนเห็นแก่ตัวก็ได้ 3.ตัวตนในอุดมคติ เป็นตัวตนในความฝันที่อยากจะเป็นหรือมีบุคคลต้นแบบที่อยากจะใช้ชีวิตตาม

และ4. ตัวตนที่เรารับรู้จากการมองของคนรอบข้าง ( Looking -glass self) และเราก็มักจะปฏิบัติตนให้สอดคล้องและมีการปรุงแต่งไปตามค่านิยมหรือความต้องการสังคม

ตัวตนประเภทนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมของเราทั้งในโลกความจริงและในโลกสังคมออนไลน์

การถ่ายภาพเซลฟี่ เปรียบเสมือนการได้ส่องกระจก  พฤติกรรมถ่ายเซลฟี่ที่น่าเป็นห่วงมี 2 ประการ ประการแรกคือถ่ายเซลฟี่ร่วมกับการใช้แอพลิเคชั่นแต่งเติมหน้าตัวเองให้ดูดี มีสีสันสดใสขึ้นตามความต้องการ

เช่นตาดำโต หน้าเรียว แก้มชมพู  ปากแดง ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับความนิยมมากทั้งไทยและต่างประเทศ  จัดว่าเป็นภาพตัวตนในอุดมคติ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง จะเป็นการหลอกทั้งตัวเองและหลอกคนอื่น 

หากใช้บ่อย จะมีผลทำให้ขาดความมั่นใจในการเผชิญหน้าจริงกับผู้คนที่เป็นเพื่อนในโลกโซเชียล  หรือเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง อาจจะเกิดการยอมรับความจริงไม่ได้  

ประการที่ 2 คือการใช้แอพถ่ายเซลฟี่บ่อยถี่จนเกินไป อาจเป็นสัญญานของผู้ที่หมกมุ่นไม่พึงพอใจรูปร่างหน้าตาของตนเองมากผิดปกติ เรียกว่ากลุ่มอาการบีดีดี ( Body Dysmorphic Disorder :BDD )

คนกลุ่มนี้จะนิยมการใช้แอพถ่ายภาพเซลฟี่เพราะภาพสามารถตอบโจทย์ ใช้ตรวจสอบรูปร่างหน้าตาของตัวเองได้บ่อย

อาจมีพฤติกรรมหมกมุ่น ไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาตัวเองและใช้แอพเซลฟี่ตลอดเวลา  จนอาจเสียการเสียงาน บางกรณีถึงขั้นหลุดจากโลกความเป็นจริงถึงขั้นไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติได้ 

“สังคมออนไลน์มีส่วนทำให้คนมีโอกาสได้เห็นหน้าตาตัวเองบ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อน  ทำให้เกิดความระแวงในหน้าตาของตัวเองว่าจะสวยหรือหล่อหรือไม่ ขณะเดียวกันการเซลฟี่ที่ถี่มากเกินไป อาจสะท้อนถึงความกังวลและความไม่มั่นใจในตัวเอง

และอาจเป็นตัวกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องทำให้ตัวเองสวยสร้างความมั่นใจตัวเองหลายคนอาจตัดสินใจทำศัลยกรรมใบหน้า ให้หน้าตาสวยเข้ารูป

หรือทำให้สวยเหมือนในภาพเซลฟี่ที่ใช้โปรแกรมตกแต่งให้ตัวเองพอใจ คนอื่นยอมรับ” แพทย์หญิงกุสุมาวดี กล่าว 

วิธีการป้องกันลูกหลานเสพติดเซลฟี่ และการสร้างความมั่นใจในตัวเองบนโลกแห่งความเป็นจริง มีคำแนะนำผู้ปกครอง 5 ประการดังนี้

1. สอนเด็กให้มองและยอมรับในความแตกต่างของคนที่ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ข้อนี้สำคัญมาก เพื่อเด็กจะได้เข้าใจ ไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น  

2 ควรเลี้ยงดูบุตรหลาน โดยให้ความรัก ความอบอุ่น เด็กจะให้ความสำคัญกับคนรอบข้างที่เป็นสิ่งแวดล้อมจริงในชีวิตประจำวัน รวมถึงให้คำแนะนำการใช้โลกออนไลน์และเซลฟี่ให้เหมาะสม ถูกเวลา

3. ฝึกเด็กให้รู้จักระเบียบวินัย รู้จักควบคุมตัวเองในการใช้เวลาในโลกออนไลน์ ประการสำคัญผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมพฤติกรรมการถ่ายเซลฟี่ของตนเอง

4.สอนให้เด็กรู้จักคบเพื่อนในโลกแห่งความเป็นจริง ฝึกทักษะทางสังคมเช่นการยิ้ม การชื่นชมคนอื่น สอนการแบ่งปัน

และ 5.ฝึกให้เด็กมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองในโลกแห่งความเป็นจริง 

โดยชวนทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว เช่น ออกกำลังกาย  ดูหนัง ฟังเพลง ทำงานศิลปะ ทำอาหาร ทำงานบ้าน หรือจิตอาสาอื่นๆ เพื่อให้เด็กมองเห็นคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News   

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com

ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

07 มกราคม 2562

ผู้ชม 8050 ครั้ง

Engine by shopup.com