"ปวดฟันคุด" ทรมานจนไม่อยากทำอะไร จะผ่ากลัวเจ็บ ถ้าไม่ผ่าจะอันตรายไหม เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ข่าวการแพทย์ บทความสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์นวัตกรรม การค้าการลงทุน อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

บทความ

"ปวดฟันคุด" ทรมานจนไม่อยากทำอะไร จะผ่ากลัวเจ็บ ถ้าไม่ผ่าจะอันตรายไหม

 

 MED HUB NEWS - หลายๆ คนอาจเคยผ่านประสบการณ์ปวดฟันคุดกันมาบ้างแล้ว คงรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดว่ามันทรมานขนาดไหน เพราะเวลาปวดจะปวดทรมาน ปวดไปจนถึงสมอง จนต้องนอนซม ไม่อยากทำอะไรเลย  

บางคนกินยาแก้ปวด พอหายปวดก็ไม่ไปผ่า แถมมาถามว่า ฟันคุดไม่ผ่าได้ไหม ทำอย่างไรดีเมื่อมีฟันคุด และมี วิธีดูแลรักษาฟันคุดอย่างไร

คำถามข้างต้น ถือเป็นอีกคำถามยอดฮิต และประสบการ์ที่หลายๆ คนเคยพบเจอ หรือกำลังจะต้องพบเจอ ล่าสุด กอง บ.ก.เว็บไซต์ medhubnews.com ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข  การท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่า  นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับฟันคุดว่า

“ฟันคุด คือ ฟันแท้ ที่ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาบนช่องปากได้ตามปกติ หรือโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน และมักฝังตัวอยู่ที่ขากรรไกรใต้เหงือกบริเวณกรามซี่ที่สามซึ่งเป็นฟันซี่ที่อยู่ด้านในสุด

อาจจะมองเห็น หรือ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหากตัวฟันไม่ได้โผล่พ้นขึ้นมาเหนือเหงือก ต้องใช้การเอกซเรย์จึงจะสามารถเห็นได้

ฟันคุดที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่นโดยรอบก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดภายในช่องปากเกิดการอักเสบติดเชื้อ
หรือปัญหาการบดเคี้ยวทั้งนี้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อนำฟันคุดที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติออก

ด้าน ทันตแพทย์บุญชู สุรีย์พงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ระบุว่า ฟันคุดพบได้บ่อยในช่วงอายุประมาณ 17-25 ปี

หากฟันกรามซี่ที่สามขึ้นยังไม่เต็มที่ไม่ทำให้อาการรุนแรงจนเกินไป ทันตแพทย์จะรักษา ด้วยการตกแต่งเนื้อเยื่อโดยรอบ หรือแนะนำในเรื่องการรักษาความสะอาดช่องปากแก่ผู้ป่วย

แต่หากฟันคุดทำให้เกิดปัญหาหรือเอกซเรย์แล้วพบว่าฟันคุดส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่น ๆ จึงจำเป็นต้องผ่าตัดออก ฟันคุดอาจทำให้เกิดอาการปวด หรืออาการบวมเหงือกอักเสบ ฟันผุ และส่งผลต่อการจัดฟัน

ทั้งนี้การผ่าฟันคุดถือเป็นข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการดังต่อไปนี้เกิดภาวะกระดูกตายจากการฉายแสงรักษาโรคมะเร็งที่ขากรรไกร โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้


โรคไตวายระยะสุดท้าย โรคตับ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณหลอดเลือดสมอง เนื่องจากอาการป่วยเหล่านี้ จะทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้ยากหรือส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นอกจากนี้สตรีมีครรภ์ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 หรือ 3 ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดฟันคุดไปจนกว่าจะคลอดบุตรและภายหลังการผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้

แต่หากในระยะพักฟื้นหลังการผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ กลืนไม่ได้ หายใจลำบาก มีเลือดออกมากผิดปกติ มีหนองหรือเกิดอาการชา ควรรีบไปพบทันตแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการแทรกซ้อนที่พบหลังจากการผ่าฟันคุด

 

เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News   

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

27 พฤศจิกายน 2561

ผู้ชม 6765 ครั้ง

Engine by shopup.com