"โรคหินปูนเกาะกระดูกหู" เป็นโรคใกล้ตัว ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อมากขึ้นเรื่อยๆ การได้ยินลดลง ไม่สามารถได้ยินเสียงกระซิบ

บทความ

"โรคหินปูนเกาะกระดูกหู" เป็นโรคใกล้ตัว ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อมากขึ้นเรื่อยๆ การได้ยินลดลง ไม่สามารถได้ยินเสียงกระซิบ

MED HUB NEWS - โรคหินปูนเกาะกระดูกหู  เกิดจากกระดูกงอกขนาดเล็กยึดฐานของกระดูกโกลน (stapes) กับ ช่องรูปไข่ (oval window) ในหูชั้นกลาง

ทำให้เสียงที่ผ่านมาทางช่องหู แก้วหู กระดูกฆ้อน กระดูกทั่ง ผ่านกระดูกโกลนยาก หรือผ่านไม่ได้ เพราะฐานกระดูกโกลนถูกยึดแน่นจากกระดูกงอกบริเวณช่องรูปไข่ น่ากลัวมาก 

medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้  และ เพจ sasook รายงานว่า  นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า โรคหินปูนเกาะกระดูกหู เป็นโรคที่เกิดจากหินปูนมีการเจริญเติบโตผิดปกติในหูชั้นกลาง

ทำให้เสียงไม่สามารถผ่านหูชั้นกลางเข้าไปในหูชั้นในได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการหูอื้อหรือหูตึง และอาจเกิดเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้

เนื่องจากมีหินปูนเจริญผิดที่ในหูชั้นใน หรือหินปูนที่ผิดปกติในหูชั้นกลางปล่อยเอนไซม์บางชนิดเข้าไปในหูชั้นใน สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด

แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่าโรคนี้มีแนวโน้มถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัว พ่อ แม่ มีประวัติเป็นโรคนี้ และพบในคนอายุ 30 – 40 ปี

โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และคนผิวขาวมากกว่าคนผิวดำ นอกจากนี้ยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อมากขึ้นได้ หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด

ด้าน นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวถึงอาการของโรคหินปูนเกาะกระดูกหู คือ ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อมากขึ้นเรื่อยๆ การได้ยินลดลง ไม่สามารถได้ยินเสียงกระซิบ และอาจถึงขั้นหูหนวก ไม่ได้ยินแม้เสียงตะโกน

บางรายอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือมีเสียงดังในหู โดยเริ่มจากหูข้างเดียวก่อนจนกระทั่งเป็นทั้ง 2 ข้าง วิธีการรักษาแพทย์จะทำการวินิจฉัยซักประวัติ และระยะเวลาที่เป็น ตรวจหู

แยกโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการทางหูที่คล้ายกัน ส่งตรวจการได้ยินในระดับความถี่ต่างๆและการทำงานของหูชั้นกลาง

ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการ โดยผู้ป่วยที่มีการสูญเสียการได้ยินไม่มาก จะใช้เครื่องช่วยฟังเพื่อช่วยขยายเสียงที่ได้ยิน ทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงดีขึ้น แต่หากพบว่าผู้ป่วยหูอื้อมากจนทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

สำหรับการผ่าตัดมี 2 ลักษณะ คือ การผ่าตัดเพื่อนำกระดูกโกลนที่หินปูนเกาะออกทั้งหมด แล้วใส่กระดูกเทียมแทน เพื่อทำหน้าที่ส่งผ่านเสียงแทนกระดูกที่มีหินปูนยึดติด ทำให้การได้ยินดีขึ้น และผ่าตัดเอาบางส่วนของกระดูกโกลนออก

ทั้งนี้การผ่าตัดมักจะทำเพียงข้างใดข้างหนึ่ง โดยแพทย์จะผ่าตัดหูข้างที่มีปัญหามากกว่าก่อน อย่างไรก็ตามโรคหินปูนเกาะกระดูกหู เป็นโรคใกล้ตัว

หากพบว่ามีอาการหูอื้อมากขึ้นเรื่อยๆ มีเสียงในหู ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่ต้น อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน และกลายเป็นคนหูหนวกถาวร

 เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com 

เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ 

Thailand Health and Wellness News   

ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com

ได้จาก Facebook : sasook ของเรา 

 

23 มีนาคม 2562

ผู้ชม 5414 ครั้ง

Engine by shopup.com