"โรคหัด" ระบาดหนัก 4 พันรายแล้ว แพทย์แนะควรฉีดวัคซีนป้องกันด่วน
"โรคหัด" ระบาดหนัก 4 พันรายแล้ว แพทย์แนะควรฉีดวัคซีนป้องกันด่วน
MED HUB NEWS - โรคหัด เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก เกิดจากเชื้อไวรัสหัด ล่าสุด medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึงประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว
โรคหัด มักจะระบาดในสภาพอากาศเริ่มหนาว ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ซึ่งโรคที่ต้องระมัดระวังในช่วงนี้คือ โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นที่มักพบได้บ่อยในทุกช่วงวัย
โดยเชื้อไวรัสหัดสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้ง่ายผ่านเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และละอองอากาศ เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการไอ จาม และพูดคุย ในระยะใกล้ชิด ผู้ป่วยโรคหัดจะมีเชื้อไวรัสหัดอาศัยอยู่ในลำคอซึ่งสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ 1-2 วัน ก่อนเริ่มมีผื่นขึ้น
สถานการณ์ของโรคหัด ในปี 2561 จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 พฤศจิกายน 2561 มีรายงานผู้ป่วย 4,030 ราย เสียชีวิต 15 ราย
ซึ่งในกลุ่มผู้เสียชีวิตนั้น จำแนกเป็นผู้ป่วยที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน 8 ราย และผู้ป่วยเข้าข่ายแต่อยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน 7 ราย โดยตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ยะลา ปัตตานี สงขลา และนราธิวาส ตามลำดับ
โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในจมูกและลำคอผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือ "ไข้ออกผื่น" โดยมักมีอาการไข้สูงประมาณ 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น
โดยผื่นเริ่มขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายทั่วตัว ประมาณ 2-3 วัน ไข้จะค่อยๆ ลดลง
และผื่นก็จะค่อย ๆ จางหายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกเป็นขุยหรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้
ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด
หากป่วยด้วยโรคหัดหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและรับการรักษา
โรคนี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง
หากพบว่าบุตรหลานยังรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนทันทีได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคหัดจะมีอัตราการป่วยตายต่ำในเด็กทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงและยังสามารถเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว
แต่ยังคงเป็นอันตรายในเด็กเล็ก เด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com
14 ธันวาคม 2561
ผู้ชม 7532 ครั้ง