"อธิบดี กรม สบส." จับพยาบาล ปลอมเป็นหมอเถื่อน รวบ “2 รายซ้อน”
"อธิบดี กรม สบส." จับพยาบาล ปลอมเป็นหมอเถื่อน รวบ “2 รายซ้อน”
MED HUB NEWS - ปัจจุบันการทำศัลยกรรม ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะใต้มีดหมอ แต่มีศัลยกรรมประเภทที่เรียกว่า non-surgical หรือแบบที่ไม่ต้องผ่าตัด เพิ่มเข้ามาด้วย
เช่น การฉีดฟิลเลอร์ หรือโบท็อกซ์ มันก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่ด้วยผู้บริโภคที่นิยมความถูก เร็ว จ่ายสบายๆ จึงเกิดความ "มักง่าย" ไปใช้บริการ หมอเถื่อน สถานพยาบาลเถื่อนหมอกระเป๋า
ทั้งนี้ เราพบเห็นกันได้มากขึ้นในปัจจุบัน แค่โทรนัดหมายกันก็มีคนมาฉีดให้ถึงบ้าน หรือจะนัดไปคอนโด ฉีดกันทีละหลาย ๆ คน ลูกค้าหลาย ๆ เจ้า กลายเป็นปาร์ตี้โบท็อกซ์หรือปาร์ตี้ฟิลเลอร์ไปเลยก็มี
หรือบางคนอาจเลี่ยงไปเปิดหน้าร้าน เพื่อให้พ้นข้อกล่าวว่าเป็นหมอกระเป๋า แต่ความปลอดภัยก็ไม่ได้มีมากไปกว่ากัน หรืออาจเป็นคนที่เคยศัลยกรรมมาก่อนไปหาซื้อตามร้านยามาฉีดให้ตัวเอง แถมยังแบ่งฉีดให้คนอื่นด้วย
แต่เมื่อผู้ลงมือกระทำไม่ใช่ผู้ที่เชี่ยวชาญในการฉีดโบท็อกซ์หรือฟิลเลอร์เลย ความเสี่ยงจึงย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ล่าสุด medhubnews.com เว็บไซต์สุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยว วาไรตี้ และ เพจ sasook รายงานว่า นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( กรมสบส. ) กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเอง
ทั้งนี้ นายแพทย์ณัฐวุฒิ พร้อมด้วย ตำรวจจาก กองบังคับการปราบปราม เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวตรวจจับ "หมอกระเป๋า" 2 รายซ้อน เวลา 19.00 น. ณ กองบังคับการปราบปราม ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร
"กรม สบส.ได้รับทราบถึงเบาะแสการลักลอบเดลิเวอรี่ฉีดสารเสริมความงามถึงที่พัก โดยหมอกระเป๋าในย่านมีนบุรี จึงได้ร่วมมือกับตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)บุกจับหมอกระเป๋าทั้ง 2 ราย
โดยรายแรกเป็นหญิง อายุ 31 ปี สำเร็จการศึกษาด้านการตลาด จับได้ขณะเข้ามาให้บริการฉีดสารเสริมความงามในที่พักของผู้รับบริการ ส่วนรายที่ 2 เป็นหญิง อายุ 42 ปี เป็นผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล จับได้ในที่พักของตนขณะให้บริการ โดยที่หมอกระเป๋าทั้ง 2 ราย ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
อีกทั้งยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. พนักงานเจ้าหน้าที่จึงแสดงตนพร้อมแจ้งข้อหากับผู้กระทำผิดรายแรก5 กระทง
ประกอบด้วย1) ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2) ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3)ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4)จำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
และ 5 ) จำหน่ายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนรายที่ 2 มีความผิด 4 กระทง ตามข้อที่ 1-4
ทั้งนี้ การศัลยกรรมแบบ non-surgical แม้จะกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ใบอนุญาตถูกต้อง กระทำในสถานประกอบการที่สะอาดปลอดเชื้อ และใช้สารซึ่งได้มาตรฐานคุณภาพดี ก็ยังไม่สามารถการันตีได้อย่างมั่นใจเลยด้วยซ้ำว่าจะได้ผลจริง และไม่เกิดความเสี่ยงต่าง ๆ ขึ้น
เพราะการศัลยกรรมและการฉีดสารแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายก็เป็นความเสี่ยงอยู่แล้วในตัวของมันเอง แล้วยิ่งเป็นหมอกระเป๋า ที่ชักจูงใจด้วยคำว่า สวย ไว ถูก ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com
เว็บไซต์ข่าวสุขภาพ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ วาไรตี้ ฯลฯ
Thailand Health and Wellness News
ติดตามข่าวสารจาก medhubnews.com ได้จาก Facebook : sasook ของเรา
23 พฤศจิกายน 2561
ผู้ชม 3715 ครั้ง